ตรรกะวิบัติที่พบบ่อยที่สุดในเน็ตไทย

advertisements

ตรรกะวิบัติที่พบบ่อยที่สุดในเน็ตไทย

1) ชอบยิงหุ่นฟาง – เอาจุดที่อ่อนที่สุดของฝ่ายตรงข้ามมาขยายใหญ่ให้พองโตเกินกว่าที่เขาพูด และโจมตีแต่เฉพาะจุดนั้นราวกับว่าเขาพูดแต่จุดนั้น ไม่เคยมีเหตุผลอื่นเลย

2) ปากอ้างคัมภีร์ – ยกหลักการหรือนามธรรมกว้างๆ เช่น ศีลห้า มรรคแปด หลักธรรมาภิบาล ตลาดคือพระเจ้า ฯลฯ และชอบยกมาเป็นพืดให้อ่านจนเวียนหัวตาลาย ทั้งที่บอกอะไรเกี่ยวกับกรณีที่กำลังถกกันอยู่ไม่ได้เลย

3) ชิ่งหนีกลบเกลื่อน – เวลาใช้เหตุผลสู้คนอื่นไม่ได้ก็ใช้วิธีเบี่ยงประเด็น ไพล่ไปพูดเรื่องอื่นที่ตัวเองใช้เหตุผลได้ดีกว่า เพื่อกลบเกลื่อนความไร้เหตุผลในเรื่องที่กำลังถกกันอยู่

4) ซบเพื่อนซบครู – ไม่ชอบใช้เหตุผลด้วยตัวเอง ชอบยกแต่คำกล่าวของเพื่อน ครู นักวิชาการ ฯลฯ ขึ้นมา แล้วพอถูกซักไซ้ไล่เลียง ก็แน่นอนว่าให้เหตุผลแทนไม่ได้เลย

5) ก็กูเก็บกด– ไม่ว่าเขาจะคุยเรื่องอะไรกันอยู่ ก็จะยกประเด็นคาใจที่ตัวเองชอบด่าขึ้นมา โดยไม่สนว่าจริงๆ มันเกี่ยวอะไรกับเรื่องที่กำลังคุยกันหรือไม่ ที่แย่กว่านั้นคือลากเส้นเชื่อมโยง ชักแม่น้ำทั้งห้ามาถึงเรื่องที่ตัวเองอยากด่าจนได้

6) เจ้ายศเจ้าอย่าง – คล้ายข้อ 4) แต่คราวนี้อวดอ้างตัวเอง ฉันจบปริญญาเอกด้านนี้มานะ ฉันเป็นผู้บริหารบริษัทใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้นะ บลาบลาบลา ราวกับว่าการได้ยศถาบรรดาศักดิ์มาย่อมแปลว่าฉันใช้เหตุผลได้เก่งกว่าคนอื่น ดังนั้นไม่ต้องฟังเหตุผล แค่รู้ว่าฉันเป็นใครก็พอ

7) ถากถางส่วนตัว – ยกเรื่องส่วนตัวของคนอื่นมาพยายามดิสเครดิต แทนที่จะคุยประเด็นที่คุยกัน

8) ดีชั่วมั่นใจ – อ้างว่าเรื่องนี้ใครๆ ก็รู้ว่าดี หรือใครๆ ก็รู้ว่าเลว ไม่ต้องอธิบายเหตุผลหรอก

9) ใครๆ ก็ทำ – อ้างว่าเรื่องนี้ใครๆ ก็ทำ ไม่ต้องอธิบายเหตุผลหรอก

10) ศัพท์ล้ำกว่าใคร – ชอบใช้ศัพท์แสงสวยหรู คำใหญ่ๆ ภาษาอังกฤษ พูดไทยคำอังกฤษคำ ทั้งที่มันไม่เกี่ยวอะไรกับประเด็นที่คุย หรือคนที่อ้างคำศัพท์เหล่านี้เองนั่นแหละที่ยังไม่เข้าใจความหมาย

11) ทำได้ไหมล่ะแก – ความคิดแปลกๆ ที่ว่า ต้องอยู่ในวงการเดียวกัน บางทีเลยเถิดถึงขั้น “ฝีมือเท่ากัน” เท่านั้นถึงจะมี “สิทธิในการวิจารณ์” คนอื่นอย่าสะเออะมาแสดงความคิดเห็นหรือข้อมูล ตรรกะวิบัติชนิดหยาบของข้อนี้คือ “ถ้าแน่จริง ทำไมไม่ลงมือทำเอง” – ทั้งสองแบบมักใช้ในกรณีถือหางคนที่กำลังถูกวิจารณ์

12) แย่กว่าเลวกว่า – คล้ายกับข้อ 11) แต่อ้างว่าเรื่องหรือคนที่แย่กว่านี้มีอีกตั้งเยอะ ทำไมไม่ด่า มาด่าเรื่องนี้หรือคนคนนี้ทำไม – มักใช้ในกรณีถือหางคนที่กำลังถูกวิจารณ์ และใช้ควบคู่กับข้อ 5) (ก็กูเก็บกด)

13) ตั้งตาโหนเจ้า – ไม่ว่าเขาคุยเรื่องอะไรกันก็จะอ้างเจ้า ถ้าคิดว่าเจ้าเห็นตรงกับตัวเอง โดยเฉพาะการอ้างพระราชดำรัสในโอกาสต่างๆ ประมาณว่าถ้าอ้างแล้วไม่ต้องใช้เหตุผลแล้วนะ หรือว่ายกขึ้นมาแล้วเรื่องนี้ต้อง “จบ” แน่ๆ (อย่างไรก็ดี ควรย้ำว่าลำพังการอ้างพระราชดำรัสอาจไม่ใช่ตรรกะวิบัติก็ได้ ถ้าเน้นเหตุผลในเนื้อหาของพระราชดำรัสว่าสนับสนุนหรือคัดค้านประเด็นอย่างไร ไม่ใช่เน้นที่ความเป็นพระราชดำรัสเฉยๆ)

ตรรกะวิบัติข้อนี้ฝ่ายที่อยากล้มเจ้าหรือไม่ค่อยชอบเจ้าก็ใช้เหมือนกัน

14) ก็เขาว่ามา – มักถูกยกเป็นข้ออ้างในการจะไม่ใช้เหตุผลด้วยตัวเอง ปกติปิดท้ายข้อถกเถียงที่ตัวเองยก มีความหมายประมาณว่า ฉันฟังคนอื่นมาอีกทีนะ มีเหตุผลหรือไม่มีแค่ไหนอย่ามาถามฉัน ไปถามคนอื่นเองละกัน

15) ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ – ข้ออ้างคลาสสิกข้อหนึ่งในการถกเถียง มักจะถูกยกขึ้นมาแบบผิดฝาผิดตัว เพราะเขากำลังถกกันด้วยเหตุผล ด้วยการยกข้อมูลหลักฐาน อยู่ดีๆ มาหาว่ากำลังถกกันเรื่อง “ความเชื่อ” หรือ “ไม่เชื่อ” เสียอย่างนั้น

16) ไม่ดูบริบท – ยกคำพูดคนอื่นออกจากบริบทที่เขาพูด ปกติเพื่อนำมาถล่มไม่ใช่ถกเถียงด้วยเหตุผล (ขอบคุณคุณ @สมชัย สุวรรณบรรณ ผู้เสนอ)

17) ไม่จดไม่จำ – ถกเถียงโดยที่ไม่จำว่าคนอื่นเขาพูดอะไรไปแล้วบ้าง ซึ่งที่จริงในโลกออนไลน์ไม่ต้องจำก็ได้ แค่ “เลื่อนขึ้นไปอ่าน” ก็พอ แต่หลายคนมาถึงก็ซัดเลยโดยไม่สนใจว่าเขาคุยอะไรกันไปถึงไหนแล้ว (ข้อนี้ที่จริงไม่ใช่เหตุผลหรือตรรกะวิบัติ เป็น “นิสัยเสีย” ที่ก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้ร่วมวงมากกว่า)

18) อ้างคำไม่เคยพูด – ถกเถียงโดยตีความสิ่งที่คนอื่นพูดเกินเลยจากสิ่งที่เขาพูด หรือคิดไปเองว่าเขาพูดอะไรสักอย่างที่เขาไม่เคยพูด หรือเชื่อว่าเขาสื่อนัยอะไรสักอย่างที่เขาไม่เคยสื่อ โดยมากเกิดจากอคติของตัวเองหรือความไม่เข้าใจ

19) นักปูดข่าวลือ – ในสังคมไทย ข่าวลือที่สนับสนุนสิ่งที่คนเชื่ออยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องราวฉาวโฉ่จากพื้นที่ซึ่งคนทั่วไปไม่มีโอกาสเข้าถึง เช่น ในวัง ในกองทัพ ในศาล ในสังคมไฮโซ ฯลฯ มักจะถูกให้น้ำหนักว่า “น่าเชื่อถือ” โดยไม่เรียกร้องขอดูข้อมูลหลักฐาน และพอขอหลักฐาน คนที่ชอบปล่อยข่าวลือก็มักจะอ้างว่า เรื่องนี้ลับเฉพาะสุดยอด ถึงได้เป็นแค่ข่าวลือไม่ใช่ข่าวจริง แต่เชื่อได้แน่นอนเพราะคนที่บอกมาอีกทีเขาอยู่วงใน ฯลฯ

20) กระพือด่าอดีต – ชอบตั้งคำถามถึงพฤติกรรมในอดีตของคนอื่นราวกับเป็นเหตุผลที่เข้าท่า เช่น แล้วทำไมตอนนั้นไม่ค้าน ทำไมตอนนั้นไม่หนุน ทำไมตอนนั้นไม่ออกมา ทำไมตอนนั้นไม่ทำ หรือทำไมตอนนั้นไม่พูด แทนที่จะสนใจ “ตอนนี้” ว่าทำแล้วดีหรือไม่ดีอย่างไร (ขอบคุณคุณ @Khun Aut Jookkru ผู้เสนอ)

21) ปามีดผิดทาง – ใช้คำคมหรือคิดประโยคคมๆ ได้เก่ง แต่เหตุผลกลับไม่คมเท่ากับคำที่ใช้ ซ้ำร้ายบางทีคมผิดที่ คือไม่เข้ากับประเด็นที่เขากำลังถกกันอยู่ ตรรกะวิบัติข้อนี้อันตรายไม่น้อย เพราะคนมักจะชื่นชมหลงใหลในความ “คม” ของคำพูด จนไม่สังเกตเห็นความ “ทื่อ” ของเหตุผลที่แฝงอยู่ในคำคม (คำคมที่เหตุผล “คม” ไม่แพ้คำที่ใช้ก็มีเหมือนกัน แต่ประเด็นคือคนมักจะมองเห็นแต่ความคมของคำเท่านั้น)

22) อ้าง “เห็น” เป็น “รู้” – สับสนระหว่าง “ความเห็น” กับ “ความรู้” หรือสับสนระหว่าง “ประสบการณ์” ส่วนตัว กับ “สถิติ” (ผ่านการบันทึกรวบรวมข้อมูลซ้ำๆ หลายครั้งและนำมาประมวลผลอย่างเป็นระบบ) เช่น “ผู้หญิงโดยเฉลี่ยต้องอ้วนกว่าผู้ชายแน่ๆ เพราะวันก่อนฉันเห็นผู้หญิงห้าคน ผู้ชายอีกห้าคน ผู้หญิงทุกคนอ้วนกว่าผู้ชาย”

23) ไม่ดูน้ำหนัก – ไม่สามารถแยกแยะได้ระหว่าง “เรื่องจิ๊บจ๊อย” กับ “เรื่องใหญ่” ในประเด็นที่กำลังถกเถียงกันอยู่ แต่อย่างไรก็ดี พึงระวังว่าอคติอาจทำให้คิดว่าคนที่เถียงด้วยตกหลุมตรรกะวิบัติข้อนี้ เพียงเพราะเขาให้น้ำหนักกับเรื่องต่างๆ แตกต่างจากเรา – ข้อนี้พูดถึงกรณีที่น้ำหนักของเรื่องต่างๆ เห็นตรงกันได้ไม่ยากว่า “จิ๊บจ๊อย” หรือเปล่าเท่านั้น ในบริบทของประเด็นถกเถียง (ยกตัวอย่างเช่น การแต่งตัวไม่เรียบร้อยอาจเป็นเรื่องสำคัญถ้าเถียงกันเรื่องการแต่งตัว แต่ถ้าเถียงกันเรื่องการกระทำของคนว่าผิดหรือไม่ผิด การที่คนคนนั้นแต่งตัวเรียบร้อยหรือไม่เรียบร้อยก็กลายเป็นเรื่องเล็กไปทันที)

24) ไม่รู้จักแพ้ – เถียงสู้คนอื่นไม่ได้ ถูกต้อนจนมุมด้วยเหตุผลแล้ว แต่ยังไม่ยอมรับ ลากยาวเหตุผลของตัวเองไปเรื่อยๆ เอาสีข้างเข้าถู ชักแม่น้ำทั้งห้า วนไปวนมาซ้ำซาก ใช้เหตุผลวิบัติหลายข้อข้างต้นปนกันจนคนอื่นอ่อนอกอ่อนใจเลิกราไปเอง – ข้อนี้ไม่ใช่เหตุผลวิบัติ เป็น “นิสัยเสีย” ในการถกเถียงมากกว่า นิสัยเสียข้อนี้ปิดกั้นการพัฒนาตัวเองอย่างร้ายแรง เพราะเราจะพัฒนาการคิดเชิงวิเคราะห์ไม่ได้ ตราบใดที่ไม่ยอมรับว่าใช้เหตุผลบกพร่อง

25) ไม่แคร์ข้อมูล – ยึดมั่นถือมั่นกับข้อมูลเก่าหรือความคิดความเชื่อของตัวเองว่าถูกต้องดีแล้ว มิใยที่คนอื่นจะนำเสนอข้อเท็จจริง ข้อมูลใหม่ หรือเหตุผลที่หักล้างความเชื่อนั้นลงก็ไม่นำพา อ้างว่าไม่มีเวลาไปศึกษาข้อมูลใหม่ คนที่นำเสนอข้อมูลเป็นใครมาจากไหน ฉันไม่เห็นรู้จัก ฯลฯ

26) เทิดทูนบูชา – คล้ายข้อ 13 (ตั้งตาโหนเจ้า) แต่ “อ่อน” กว่า ตั้งหน้าตั้งตาบูชาคนที่ตัวเองเคารพนับถือ ไม่สนใจว่าเหตุผลที่เขาใช้ในกรณีนี้ฟังขึ้นหรือไม่ขึ้นมากน้อยเพียงใด อวยเข้าไว้เป็นดี

advertisements

27) แรงกว่าสะใจ – ไม่สนใจความเป็นเหตุเป็นผล ขอแค่ใช้คำ “แรงๆ” ไว้ก่อน คนอ่านหลายคนเวลาเจอแบบนี้ก็รู้สึก “สะใจ” และรู้สึกอยากสนับสนุนคนพูด ด้วยความเชื่อว่าเขาเป็น “คนกล้า” แม้ว่าเขาจะไม่มีเหตุผลเลย หรือมีแต่แย่มากก็ตามที

28) พูดยังไงก็ใช่ – ใช้เหตุผลที่ไม่ใช่เหตุผล เป็นชุดคำพูดทำนอง “พูดอีกก็ถูกอีก” มากกว่า เช่น “ถ้าเมืองไทยมีนักการเมืองดี ประเทศชาติจะพัฒนากว่านี้มาก” หรือ “ถ้าเพียงแต่คนไทยมีจิตสำนึก ประเทศไทยจะเจริญกว่านี้” “ถ้าเรามีศีลธรรม สังคมคงรุ่งเรือง” ฯลฯ

29) ไม่ชอบอย่าอ่าน – พอเถียงสู้ไม่ได้ก็กลับไปงัดเหตุผลเกรียนๆ ที่ไม่ใช่เหตุผล คือ “ไม่ชอบก็ไม่ต้องอ่าน” มาใช้ ถ้าอยากเกรียนตอบ เสนอให้ตอบว่า อ้าว ถ้าไม่อยากให้อ่าน แล้วท่านมาเถียงประจานความไร้เหตุผลของตัวเองต่อหน้าธารกำนัลทำไม? (ขอบคุณคุณ @Suppawat Yoki Yokubol ผู้เสนอ)

30) อย่าพานโลกสวย – เถียงกันอยู่ดีๆ ถูกหาว่า “โลกสวย” เสียอย่างนั้น ราวกับว่าทุกคนรู้ดีโดยไม่ต้องอธิบายว่าคำคำนี้แปลว่าอะไร เวลาใช้คำคำนี้ คนพูดจะไม่อธิบายต่อว่า โลกสวยคืออะไร ไม่ดีอย่างไร เหตุผลที่ยกมาเข้าข่าย “โลกสวย” ตรงไหน (ที่จริงข้อนี้คล้ายกับข้อ 10) ศัพท์ล้ำกว่าใคร แต่แทนที่จะซ่อนความไร้เหตุผลอยู่ข้างใต้คำศัพท์สวยหรู กลับเลือกใช้คำศัพที่มีนัยประณามคนอื่น อีกทั้งคนที่คิดศัพท์นี้ขึ้นมา ก็บัญญัติศัพท์ด้วยอคติตั้งแต่แรก) (ขอบคุณคุณ @Normalfx Caesarketer และ @Rung T Shirt ผู้เสนอ)

31) ไม่ช่วยอย่าเสือก – สรรหาคำประณามต่างๆ นานา ที่ไม่ใช้เหตุผลใดๆ เลยในประเด็นที่กำลังถกกันอยู่ เพียงเพราะยึดมั่นถือมั่นว่า วิธีของฉันเท่านั้นที่ถูกต้อง ใครไม่เห็นด้วยเท่ากับไม่ช่วยอะไรเลย หาว่าเก่งแต่ตำรา ฯลฯ ทั้งที่คำด่าเหล่านั้นอาจไม่สอดคล้องกับความจริงก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น พูดว่า “เก่งจริงทำไมไม่ทำ” ทั้งที่ไม่รู้เลยว่าคนที่เถียงด้วยเขาพูดอย่างเดียวโดยไม่ทำอะไรจริงหรือไม่

32) ทางเลือกไม่มี – อ้างว่าไม่มีทางเลือกอื่นในการคิดเรื่องนี้อีกแล้ว ยกเว้นชุดเหตุผลหรือความเชื่อของตัวเองเท่านั้น ใครจะพูดอะไรก็ไม่ฟัง ส่วนใหญ่คนที่คิดแบบนี้จะเชื่อว่าตัวเองเป็น… (ดูข้อต่อไป)

33) คนดีเสียอย่าง – เชื่อมั่นว่า “ฉันเป็นคนดี ฉะนั้นสิ่งที่ฉันคิดย่อมมีเหตุมีผลกว่าสิ่งที่ “คนชั่ว” คิดเสมอ เพราะคนชั่วยังไงๆ ก็คิดเข้าข้างตัวเอง เอาผลประโยชน์ตัวเองเป็นที่ตั้ง” ทั้งๆ ที่ความดี-ความเลว เป็นคนละเรื่องกันกับความมีเหตุมีผลหรือไม่มี และหลายครั้งความดี-ความเลวเองก็เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันด้วยเหตุผลได้ ว่าดีหรือเลวจริงหรือไม่เพียงใด

34) อย่าขวางลำเรือ – ตรงกับสุภาษิตไทยว่า หมูเขาจะหาม อย่าเอาคานเข้าไปสอด พองัดข้ออ้างข้อนี้ขึ้นมาใช้ คนที่พยายามใช้เหตุผลถกเถียงก็จะถูกมองว่าเป็นคนขวางโลกหรือขัดขวางความเจริญไปโดยปริยาย ทั้งๆ ที่การถกเถียงไปขวางพฤติกรรมของใครจริงๆ ไม่ได้ มีแต่กระตุ้นเตือนให้คิดหน้าคิดหลังเท่านั้น

35) เกรียนเพื่อจะเกรียน – ไม่ฟังอีร้าค่าอีรม ไม่พูดพล่ามทำเพลง มาถึงก็บรรเลงเพลงด่า โดยใช้ส่วนผสมของเหตุผลวิบัติหลายข้อประกอบกัน โดยไม่ตั้งใจอ่านและคิดตามกระทู้ว่าเขาพูดและถกเถียงอะไรกันไปบ้างแล้ว ไม่ดูว่าประเด็นของคนตั้งกระทู้อยู่ที่ไหน เหตุผลของเขาคืออะไร เพราะกะจะเกรียนอย่างเดียว

36) วนเวียนเรื่องเก่า – ชอบขุดเรื่องเก่าๆ ขึ้นมา โดยมีเจตนาจะยกขึ้นมาเปรียบเทียบเพื่อชี้ว่า เหตุการณ์ในอดีตนั้นสนับสนุนเหตุผลของตัวเองในประเด็นที่กำลังถกกันอยู่ แต่ปัญหาคือ 1) ตัวเองตีความเหตุการณ์ในอดีตผิดเพี้ยนไปจากข้อเท็จจริง (เช่น อ้างว่าคนผิวดำและผู้หญิงในอเมริกาสมัยก่อนไม่มีสิทธิเลือกตั้ง เนื่องจาก “ไม่พร้อม” ที่จะเลือกตั้ง) หรือไม่ก็ 2) ข้อเท็จจริงไม่ผิด แต่เหตุการณ์จากอดีตนั้นๆ เอามาเปรียบเทียบกับประเด็นปัจจุบันไม่ได้ เพราะต่างกรรมต่างวาระ ต่างบริบทหรือแม้กระทั่งต่างประเด็น

37) เอาแพะชนแกะ – จับแพะชนแกะ จับโน่นผสมนี่มั่วไปหมด โดยมากมักจะตั้งอยู่บนการคิดเอาเอง หรือการยึดมั่นถือมั่นในทฤษฏีสมคบคิดบางอย่างที่ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าจริงหรือเท็จ

38) ชอบแปะแล้วไป – มาแปะคำคม รูปภาพ อินโฟกราฟฟิก ฯลฯ แล้วจากไปดื้อๆ ไม่สนใจว่าเนื้อหาของสิ่งที่เอามาแปะนั้นไม่เกี่ยวอะไรกับประเด็นที่ถกกันอยู่ ไม่มีเหตุผล ใช้ข้อมูลผิด หรือเป็นเหตุผลวิบัติในตัวเองหรือไม่

39) เมืองไทยนี้ดี – ยกเหตุผลที่ไม่ใช่เหตุผล ทำนอง “เมืองไทยไม่เหมือนฝรั่ง” “ทำไมต้องตามก้นตะวันตก” “เมืองไทยมีเอกลักษณ์ของเราเอง” เป็นข้ออ้างในการถกเถียง โดยไม่ขยายความหรืออธิบายต่อว่า ความเป็นไทยคืออะไร แล้วเอกลักษณ์ที่ว่านี้ดีอย่างไร เกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างไร ความเป็นไทยคืออะไร ฯลฯ

40) ชี้ “ผล” สลับ “เหตุ” – สับสนระหว่าง “เหตุ” และ “ผล” กรณีนี้ความเป็นไปได้คือ 1) สิ่งที่ตัวเองคิดว่าเป็น “ผล” ที่จริงเป็น “เหตุ” 2) สิ่งที่ตัวเองคิดว่าเป็น “เหตุ” ที่จริงเป็น “ผล” หรือ 3) ทั้ง “เหตุ” และ “ผล” ไม่ใช่ทั้งคู่ แต่เป็น “ผล” ของปัจจัยอื่นที่เป็น “เหตุ” เช่น ฝนตกไม่ใช่เพราะกบร้อง และกบก็ร้องไม่ใช่เพราะฝนตก แต่ความชุ่มชื้นในอากาศ (moisture) เป็นสาเหตุของทั้งฝนตก และกบร้อง (กบร้องเรียกคู่ ความชุ่มชื้นที่มากับฝนทำให้กบหายใจทางผิวหนังได้ เคลื่อนที่ได้ไกลกว่าเดิมโดยไม่ต้องกลัวว่าผิวจะแห้งตาย นอกจากนี้ฝนตกยังสร้างแอ่งน้ำให้วางไข่หลังผสมพันธุ์ได้)

41) จัดเซ็ตขาว-ดำ – มีโลกทัศน์แบบ “ไม่ขาวก็ดำ” จนไม่สามารถมองโลกหรืออ่านข้อถกเถียงอย่างตรงไปตรงมาได้ คิดเหมารวมและตีความเอาเองตลอดเวลาว่าคนพูด “เอา” อะไร และ “ไม่เอา” อะไร ไม่สามารถมองเห็น “เฉด” หรือ “ระดับ” หรือ “ลำดับความสำคัญ” ของความคิดต่างๆ ได้

ยกตัวอย่างเช่น เขาพูดว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น” ตัวเองเถียงว่า “สิบปากว่าไม่ดีตรงไหน” ทั้งที่ข้อความนี้ไม่ได้บอกว่า “สิบปากว่าไม่ดี” เพียงแต่บอกว่า “ตาเห็นดีกว่า” เท่านั้นเอง หรือได้ยินคนพูดว่า “ควรเลือกตั้งก่อน” ก็เถียงว่า “เราต้องปฏิรูป ไม่เข้าใจหรือไง” ทั้งที่เขาเพียงแต่เสนอว่าควรเลือกตั้งก่อน ไม่ได้แปลว่าไม่อยากปฏิรูป ในทางกลับกัน บางคนได้ยินใครพูดว่า “ควรปฏิรูปก่อน” ก็โจมตีว่าเขาไม่เอาการเลือกตั้ง ทั้งที่เขาไม่ได้หมายความอย่างนั้นเลย

42) อุปมาผิดเรื่อง (ขอบคุณ @Supitsuda Tongsopit ผู้เสนอ) – ยกกรณีอื่น ทั้งที่เป็นข้อเท็จจริง ตำนาน นิทาน หรือกรณีที่คิดขึ้นมาเองมาอ้างเป็นเหตุผลสนับสนุนตัวเองในประเด็นที่กำลังเถียงกันอยู่ ทั้งที่มันเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้เพราะบริบทไม่เหมือนกัน หรือไม่อย่างนั้น สมมุติฐานของตนก็แตกต่างจากคนที่ถกเถียงด้วย ทำให้ต้องเสียเวลามาเถียงกันเรื่องอุปมาก่อน ว่า “ใช้ได้” กับประเด็นนี้หรือไม่ แทนที่จะเถียงกันเรื่องประเด็นนั้นๆ ต่อเนื่องไปเลย

43) สิ้นเปลืองตัวเลข (ขอบคุณ @Nonn Panitwong ผู้เสนอ) – ยกข้อมูลที่เป็นตัวเลข อาทิ สถิติต่างๆ ขึ้นมาเป็นเหตุผลในการโต้เถียง แต่ปัญหาคือข้อมูลนั้น 1) ไม่ถูกต้อง (เช่นบอกว่าเท่ากับ 20.5 ที่จริงต้องเป็น 10.5) 2) ไม่เข้าเรื่อง (เช่น เถียงกันเรื่องความเหลื่อมล้ำ ไปยกตัวเลขจีดีพีมาเถียง ทั้งที่จีดีพีไม่ใช่ข้อมูลที่ชี้วัดความเหลื่อมล้ำได้) หรือ 3) ที่มาไม่ถูกต้องหรือมีปัญหา (เช่น ยกตัวเลขมาจากงานวิจัย แต่เป็นงานวิจัยที่มีข้อครหาเรื่องระเบียบวิธีวิจัยมากมาย)

44) ยกเมฆทั้งเพ – เป็นวิธีเถียงที่มักง่ายที่สุด คือเสกสรรปั้นแต่งข้อมูลขึ้นมาดื้อๆ เสียอย่างนั้น

45) เสแสร้งดราม่า – เถียงกันอยู่ดีๆ ก็ไพล่ไปยกเรื่องอื่น (มักจะเป็นเรื่องส่วนตัว) ขึ้นมาดราม่า เพื่อซื้อเวลา เรียกร้องความเห็นใจ หรือเบี่ยงประเด็นออกจากความไม่มีเหตุผลของคนพูด เช่น โถ เห็นใจน้องเขาหน่อย แม่เขาไม่สบาย / เขาเพิ่งเลิกกับแฟน / เจ้านายที่ทำงานกดขี่ ฯลฯ

(UPDATE 24/12) ตรรกะวิบัติที่พบบ่อยที่สุดในเน็ตไทย

เรื่องโดย: Sarinee Achavanuntakul
ที่มา: https://www.facebook.com/notes/509032969170906/