แนะนำหนังสือภาพสำหรับเด็ก “It’s a book”

advertisements

แนะนำหนังสือภาพสำหรับเด็ก “It’s a book” ผลงานของ เลน สมิธ แปลโดย ชัยวัฒน์ วิบูลสวัสดิ์

นี่คือหนังสือ It’s a book ผลงานของ เลน สมิธ แปลโดย ชัยวัฒน์ วิบูลสวัสดิ์ อ่านสนุก ที่จริงแล้วทุกคนในบ้านควรได้อ่าน วัตถุที่เราทำได้อย่างเดียวคือ “อ่าน” จะดีกว่าวัตถุที่ทำได้สารพัดได้อย่างไร แต่ที่จริงหนังสือมีประโยชน์หลายอย่าง ใช้ลูบคลำ สูดกลิ่น หนุนหมอน ปัดแมลง เอาขึ้นบังหน้าในระยะประชิด และกำวิ่งออกกำลังกายได้ด้วย
 

“จะพลิกหรือจะสครอล?” ข้อเขียนนี้เก็บความจากบทความ The Reading Brain in the Digital Age:The Science of Paper versus Screens เขียนโดย Ferris Jabr เผยแพร่ในเว็บไซต์ Scientific American เมื่อ 11 เมษายน 2013 (เผยแพร่ซ้ำ)

 
บทความขึ้นต้นโดยอ้างถึงคลิปในยูทูบที่ชื่อว่า นิตยสารคือไอแพดที่เสียแล้ว A Magazine is an iPad that does not Work เด็กหญิงอายุ 1 ขวบนั่งยังไม่แข็งแรงดีนักสามารถใช้นิ้วชี้เขี่ยหน้าจอแท็บเล็ตเปลี่ยนไปมาได้ ภาพตัดไปที่เธอกำลังจับนิตยสารฉบับหนึ่งขึ้นมาเล่น เธอพยายามใช้นิ้วเขี่ยหน้ากระดาษให้เปลี่ยน ครั้นพบว่าไม่สำเร็จเธอใช้นิ้วจิ้มขาตัวเองประหนึ่งจะทดลองให้แน่ใจว่านิ้วของเธอยังใช้การได้อยู่หรือเปล่า
 
คลิปและบทกล่าวนำนี้แสดงให้เห็นถึงคำกล่าวที่ว่าเราอ่านอะไรสมองเราเป็นอย่างนั้น สมองคนเราไม่นิ่งและจะพัฒนาไปตามประสบการณ์ที่เราพบเราทำ พูดง่ายๆ ว่าลูกเล่นดินทรายจะได้สมองแบบหนึ่ง ลูกเร่งเรียนคณิตศาสตร์จะได้สมองอีกแบบหนึ่ง สมองที่ได้มาจะถูกนำเอาไปใช้ทดสอบโลกและชีวิตต่อไปเป็นวงจรเช่นนี้เรื่อยไป เด็กเขี่ยแท็บเล็ตได้ สมองจะเรียนรู้ว่าใช้นิ้วชี้เขี่ยหน้าจอใดๆ ได้ ครั้นนิ้วชี้เขี่ยแผ่นกระดาษนิตยสารไม่ได้ หากไม่ใช่นิ้วเสียก็ต้องเป็นนิตยสารเสีย

 
บทความขนาดยาวชิ้นนี้ได้รวบรวมงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าการอ่านหนังสืออิเล็คโทรนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือ อีบุ๊ค มีความแตกต่างจากการอ่านหนังสือเล่มที่พิมพ์ด้วยหมึกบนกระดาษอย่างไร งานวิจัยส่วนใหญ่ชี้ตรงกันว่าการอ่านหนังสือเล่มช่วยให้เราเก็บประเด็นได้มากกว่า แม่นยำกว่า บางงานวิจัยชี้ว่าอ่านได้เร็วกว่าด้วย คำอธิบายส่วนใหญ่อ้างว่าเป็นเพราะเวลาอ่านอีบุ๊ค เราเสียสมาธิส่วนหนึ่งไปกับการสครอล (scroll) และถูกรบกวนด้วยลูกเล่นแพรวพราว เช่น การค้นคำสำคัญ (keyword) ซึ่งมักทำได้อย่างง่ายดาย พูดง่ายๆ ว่าหลงเข้าซอยได้ง่าย

advertisements

 
มีคำอธิบายทางจิตวิทยาที่อ้างว่าการอ่านหนังสือเล่มดีอย่างไรที่น่าสนใจด้วย นอกเหนือจากที่ผมเคยเขียนในหลายที่ว่าหากเชื่อตามแนวคิดจิตวิเคราะห์ การสัมผัส (touch) และการสูดดม (smelling) สร้างประสบการณ์ฝังใจได้ล้ำลึกกว่าการเห็นหรือการได้ยินเสียอีก นั่นหมายความว่าการกำหนังสือเล่มนอนอ่าน ลูบคลำรอยนูนของตัวอักษร ความสากของหน้ากระดาษ และสูดกลิ่นหมึกของหนังสือใหม่หรือกลิ่นอับของหนังสือเก่า เหล่านี้มีความหมายมากกว่าเนื้อหาที่อ่าน

 
บทความนี้ชี้ให้เห็นเพิ่มเติมว่า ระหว่างการพลิกแผ่นกระดาษและการสครอลหน้าจอ การพลิกแผ่นกระดาษให้ประสบการณ์ที่เป็นจริงมากกว่า เสียงกระดาษที่พลิก รอยยับย่นที่อาจจะเกิดขึ้น เหล่านี้ทำให้หนังสือมีอยู่จริงและเนื้อหาที่อ่านก็มีอยู่จริงด้วย ในขณะที่การสครอลหน้าจอให้ความรู้สึกว่าไม่มีอะไรอยู่นิ่ง ทั้งหมดที่เห็นเป็นเพียงภาพเสมือน จะลูบคลำหรือสัมผัสก็ไม่ง่ายนัก ความไม่จริงทั้งมวลทำให้เราไม่รู้สึกเป็นเจ้าของทั้งที่มีไฟล์ของหนังสือทั้งเล่มครบสมบูรณ์
ดีที่สุดคือตอนกลางๆ ของบทความ เขียนว่าการอ่านหนังสือเล่มเปรียบเสมือนการเดินทาง (journey) เราเดินทางจากไหน กำลังอยู่ที่ไหน และไปไหน
 
อธิบายให้เห็นจริงดังนี้ เวลาเราเปิดหนังสืออ่าน หนังสือประกอบด้วย 2 ส่วนคือ หน้าซ้าย และ หน้าขวา ในแต่ละหน้ายังมี 4 มุม คือมุมซ้ายบน มุมขวาบน มุมซ้ายล่าง และมุมขวาล่าง ดังนั้นในแต่ละขณะที่เรากำลังอ่าน เรามีแผนที่เดินทางเปิดอยู่ตรงหน้า 8 ตำแหน่งตลอดเวลา เรารู้ว่าหน้าแรกอยู่ที่ไหนคือมือซ้ายที่เรากำอยู่ เรารู้ว่าหน้าสุดท้ายอยู่ตรงไหนคือมือขวาที่เรากำอยู่ และเรารู้ตลอดเวลาว่าเราอ่านถึงบริเวณไหน ช่วงแรกๆ กลางๆเล่มหรือตอนท้ายๆของเล่ม เวลาผ่านไปความหนาด้านซ้ายเพิ่มขึ้นทุกที ความหนาด้านขวาบางลงทุกที ประเด็นคือสมองของคนเราทำงานด้วยการสร้างความเชื่อมโยงของข้อมูลกับบริบทด้วย การรับรู้ว่าเรากำลังอ่านอะไรซึ่งอยู่ตรงบริเวณไหนของ “การเดินทาง” ช่วยให้เราจดจำและเก็บประเด็นได้แม่นยำกว่า
ลองเปรียบเทียบกับการสครอลหน้าจอ เรารู้ได้ยากว่าเรากำลังเดินทางถึงไหน

ที่มา