learningstudio.info

พัฒนาการเด็ก: การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย 0-6 ปี

advertisements

การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย 0-6 ปี ในมุมมองของนักจิตวิทยา (คนนี้)

พัฒนาการเด็ก: การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย 0-6 ปี

ในมุมมองของตนเองมีความเชื่อว่า “ร่างกายที่พร้อม เท่ากับฐานที่มั่นคง เมื่อมีฐานที่มั่นคง เด็กจะเรียนรู้ได้อย่างยั่งยืน


ไม่มีคำว่าช้าเกินไปสำหรับการเรียนรู้ เพราะเราเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
เราต้องเชื่อว่า “เด็กทุกคนเรียนรู้ได้ แต่จะช้าเร็ว หรือด้วยวิธีใด อาจจะมีความแตกต่างกันบ้าง”

ดังนั้น ก่อนจะเริ่มใส่เนื้อหาให้กับเด็กๆ เราควรควรเริ่มจาการปูพื้นฐานในช่วงปฐมวัยก่อน (0-6 ปี)

ข้อที่ 1 “เด็กคนหนึ่งจะเรียนรู้ได้ดี ต้องมีร่างกายที่พร้อมก่อนเสมอ”

ผู้ใหญ่จึงควรส่งเสริมเรื่อง ร่างกายและการช่วยเหลือตัวเองเป็นสำคัญ ก่อนจะกังวลเรื่องของการเขียนการอ่าน กล้ามเนื้อมัดเล็ก-มัดใหญ่แข็งแรงและเคลื่อนไหวได้ตามวัย ซึ่งเกิดจากการเล่นอย่างเต็มที่ ขา-เท้า เดิน วิ่ง กระโดดขาคู่ ขาเดียว ไปข้างหน้าอย่างมั่นคง แขนแกว่งไกว ปีนป่ายอย่างคล่องแคล่ว มือกำ หยิบ จับ โยน ขว้าง อย่างแม่นยำ นิ้วมือทั้งสิบ หยิบ หนีบ กด ฉีก ตัด อย่างแข็งแรง

***เด็กปฐมวัยควรเล่นอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงต่อวัน

เมื่อร่างกายพร้อม เขาจะสามารถเขียนได้อย่างทนทาน มีสมาธิจดจ่อฟังในสิ่งที่เราสอน จดจำตัวอักษรซึ่งนำไปสู่การอ่านได้อย่างดี
แม้จะเริ่มอ่านเขียนช้ากว่าเด็กที่เร่งเรียน แต่เด็กที่ฐานแน่นจะมั่นคงและเรียนรู้ได้อย่างยั่งยืน
**********

ข้อที่ 2 การช่วยเหลือตัวเองตามวัย (Self-care)

ไม่มีประโยชน์อันใด หากเด็กท่อง ก-ฮ ได้ แต่เขากินข้าวเองไม่เป็น เพราะความมั่นใจในตนเองมีรากมาจาก การรับรู้ความสามารถในร่างกายของตัวเอง “ฉันสามารถทำสิ่งนี้ด้วยตัวเองได้ ฉันสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ต้องรอให้ผู้อื่นมาทำให้ฉัน” ดังนั้นเมื่อฉันอยู่ที่ไหน ฉันก็สามารถทำได้ ทักษะการช่วยเหลือตัวเองขั้นพื้นฐานที่เด็กทุกคนควรทำได้ก่อนพ้นวัย 6 ปีไป ได้แก่ หยิบจับอาหารเข้าปาก และใช้ช้อน-ส้อมได้ตามวัย ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว ติดกระดุม รูดซิป ตามวัย และการควบคุมการขับถ่ายเมื่อพร้อม
**********

ข้อที่ 3 การควบคุมตนเอง (Self-regulation)

เมื่อร่างกายแข็งแรง และควบคุมร่างกายได้สมวัย เขาจะมีความมั่นใจที่จะเรียนรู้หรือลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่สำคัญเมื่อควบคุมร่างกายได้ เขาจะเริ่มควบคุมการกระทำของตนเอง ซึ่งนำไปสู่การมีสมาธิจดจ่อตามวัยได้ในที่สุด

เมื่อร่างกายพร้อมจึงจะสอนสิ่งอื่นๆ
ดังนั้นในเด็กปฐมวัย ควรได้เน้นเรื่อง “การเตรียมพร้อมร่างกาย (กล้ามเนื้อมัดเล็ก-ใหญ่)” ผ่านการเล่นให้เพียงพอ และเน้นเรื่อง “การช่วยเหลือตัวเองตามวัย” ผ่านการให้เด็กลงมือทำให้มากที่สุด ชะลอการช่วยเหลือ และส่งเสริมให้เด็กได้ทดลองทำสิ่งต่างๆ ใหม่ๆ เสมอ อย่ากลัวเลอะ หรือเร่งให้เขาทำให้เสร็จทันใจเรา
**********

ข้อที่ 4 เรียนรู้ผ่านการเลียนแบบและลงมือทำ

เด็กเล็กเรียนรู้ผ่านการได้ดีที่สุดจากการได้ดูตัวแบบในชีวิตจริง และการสอนผ่านการลงมือปฏิบัติไปพร้อมกับเขา ไม่ใช่ผ่านการฟัง หรือจากการดูในสื่อหน้าจอต่างๆ

ดังนั้น แม้หน้าจอจะมีเนื้อหามากมาย แต่ความสำคัญในเวลานี้ไม่ใช่เนื้อหาในหน้าจอ แต่เป็นการลงมือทำในชีวิตจริง เด็กจะมีสมาธิ และจดจ่อได้ดีกว่า เมื่อเขาได้ลงมือทำกับผู้ใหญ่

ที่สำคัญ การดูหน้าจอในเด็กวัยต่ำกว่า 6 ปี มักจะมีข้อเสียมากกว่าข้อดีที่ได้รับมา เช่น พฤติกรรมการติดหน้าจอ สมาธิที่ลดน้อยลง และอารมณ์ที่ไม่มั่นคง สาเหตุมาจาก “สมองส่วนหน้า (Pre-frontal cortex)” ของเด็กวัยนี้ยังเติบโตไม่เต็มที่ สมองส่วนนี้ควบคุมเรื่องของการควบคุมตัวเอง (Self-regulation) ซึ่งส่งผลโดยตรงกับการควบคุมตัวเองในเด็กเล็กที่ยังไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เด็กมีแนวโน้มจะติดหน้าจอได้มากกว่าผู้ใหญ่ เขาห้ามตัวเองได้ยากกว่าเรา
**********

ข้อที่ 5 ทักษะการเล่นด้วยตัวเอง

เด็กๆ ควรเล่นหรือ entertain ตัวเองเป็น และใช้เวลาอยู่กับตัวเองได้บ้าง การเล่นด้วยตัวเอง คือ การเล่นที่มีผู้ใหญ่คอยสอดส่อง แต่ไม่มีความจำเป็นต้องลงไปเล่นกับเขา

เด็กที่สามารถเล่นกับตัวเองได้ เริ่มที่วัย 2 ปีขึ้นไป

ในเด็กเล็ก เราควรเล่นกับลูกให้มากที่สุด เพื่อให้เขาเก็บเกี่ยวทักษะการเล่นต่างๆ ยิ่งเล่นเยอะ ลูกยิ่งมีทักษะการเล่นที่หลากหลาย

การเล่นที่เด็กสามารถเล่นได้นาน ได้แก่ การเล่นน้ำ เล่นทราย เล่นสี เล่นเลอะเทอะ ผสมของ เล่นทำกับข้าว และอื่นๆ ซึ่งในที่นี้ต้องไม่ใช่การเล่นกับหน้าจอ เพราะการเล่นกับหน้าจอเด็กไม่ต้องใช้ความพยายามในการคิดสร้างสรรค์การเล่นใดๆ หน้าจอเป็นผู้คิดให้หมด เขาเป็นฝ่ายรับอยู่อย่างเดียว

ทักษะการเล่นกับตัวเอง มีประโยชน์อย่างมากในการสร้างเด็กให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมีทักษะการแก้ปัญหาอย่างดีเยี่ยม ถ้าเป็นไปได้

advertisements

นอกจากเล่นกับลูกแล้ว พ่อแม่ควรเริ่มจากให้เด็กเล่นด้วยตัวเอง โดยมีเราอยู่ในสายตาห่างๆ และงดพูดห้าม หรือ แทรกแซงการเล่นของเด็ก เราควรตั้งกติกาให้ชัดเจนเพื่อกำหนดขอบเขตการเล่นไว้เบื้องต้น กติกาที่แนะนำ คือ กฏ 3 ข้อ ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำลายข้าวของ และเราสามารถกำหนดได้ว่า การเล่นนี้จะเกิดขึ้นที่ไหน ให้ใช้ของอะไรได้บ้าง ที่สำคัญควรกำหนดเวลาไว้ว่า ลูกจะเล่นตรงนี้นานเท่าไหร่ เราสามารถคาดคะเนจากความสามารถของลูกเราได้ตามอายุ และความสามารถจากที่ผ่านมา

***สมาธิและความสามารถในการอดทนรอคอยของเด็กจะเพิ่มขึ้นตามอายุ
ระยะเวลาขั้นต่ำ = อายุ x 2 (อายุเด็ก คูณ 2)
ระยะเวลาสูงสุด = อายุ x 5 (อายุเด็ก คูณ 5)
จึงไม่น่าเเปลกใจที่การนั่งเรียนในห้องเรียน โดยให้อยู่กับที่เป็นเวลานาน ทำให้เด็กเล็กอึดอัดและคับข้องใจเป็นที่สุด เพราะเรากำลังคาดหวังเขาเกินวัย ในเด็กโตขึ้นมาหน่อย ที่อยู่ได้นานถึง 20 นาที เราสามารถทำกิจกรรมเวียนฐาน ให้เด็กๆ ไปทำกิจกรรมในแต่ละโต๊ะแล้วเวียนฐานไปเรื่อยๆ จะทำให้เด็กไม่เบื่อ และสามารถทำได้จนครบทุกกิจกรรม
**********

ข้อที่ 6 ทักษะการสื่อสาร การพูดและการฟัง

“การพูดสื่อสาร” เด็กเล็ก ควรเรียนรู้การสื่อสารอย่างเหมาะสม…
“บอกความต้องการ” “บอกปฏิเสธ” และ “ขอความช่วยเหลือ” เมื่อทำไม่ได้ด้วยตนเอง
ถ้าเด็กยังไม่พูด เราสามารถให้เขาพาเราไปดู ชี้บอก หรือ ใช้ภาษากายช่วยสื่อสารได้ เพื่อลดความคับข้องใจ

ในเด็กที่สื่อสารไม่ได้ จะนำไปสู่การแสดงออกทางพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ทำร้ายร่างกายตนเองหรือผู้อื่น ร้องไห้ กรีดร้อง และอื่น ดังนั้นยิ่งเราสอนเขาให้สื่อสารอย่างเหมาะสมเท่าไหร่ เด็กจะลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมลงไปเท่านั้น

“การฟัง”
ฟังแล้วตอบสนองต่อคำสั่ง หรือ สื่อสารกลับมา

ดังนั้น การให้เด็กเร่งท่องตัวอักษร หรือ เร่งให้เขียนก่อนวัย เราจะพลาดโอกาสในการเติมฐานในเรื่องของการเข้าใจ และการสื่อสารของเด็กไป เพราะเด็กจะรับสารทางเดียว และพัฒนาเพียงการท่องจำ แต่เขาไม่เข้าใจอย่างแท้จริง

***การอ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟัง คือ การส่งเสริมทักษะการฟังและเพิ่มคลังคำศัพท์ให้เด็กๆ อย่างมากมาย
**********

ข้อที่ 7 เรียนรู้เรื่องอารมณ์

เด็กปฐมวัย สามารถเริ่มเรียนรู้อารมณ์ขั้นพื้นฐาน ได้แก่ เศร้า มีความสุข ได้ตั้งแต่เขาเริ่มสื่อสาร และจะเรียนรู้อารมณ์ต่างๆ ที่ละเอียดขึ้นในวัยต่อๆ มา ยิ่งเด็กได้เรียนรู้ว่า “ตนเองนั้นรู้สึกอย่างไรอยู่” จะนำไปสู่การเข้าใจตนเอง และการแสดงออกที่เหมาะสมมากขึ้น
เราสามารถสอนเรื่องอารมณ์ในเด็กผ่านการแสดงสีหน้า หรือ เล่นบทบาทสมมติกับเขา
**********

ข้อที่ 8 การทำงานบ้าน

ไม่มีงานใด สอนเด็กได้ดีกว่า “งานบ้าน” เพราะงานบ้านได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก-มัดใหญ่ และการรับผิดชอบต่อหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม ก่อนเด็กจะได้การบ้าน เด็กๆ ควรได้รับงานบ้านก่อน เด็กที่รับผิดชอบต่องานบ้านได้ เขาจะสามารถรับผิดชอบต่องานอื่นๆ ได้อย่างสบายๆ
**********

ข้อที่ 9 ความพยายามและไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค

สุดท้าย แม้เด็กจะเรียนรู้ได้เร็ว แต่ถ้าเจออุปสรรค แล้วไม่สามารถข้ามผ่านไปได้ เด็กบางคนเลือกที่จะยอมแพ้ทันที ดังนั้นการสอนเด็กให้พยายามและไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค จึงเป็นสิ่งที่จะทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ตลอดไป

เราสามารถสร้างทัศนคตินี้ได้ โดยการที่…
(1) ชื่นชมที่ความตั้งใจของเด็กมากกว่าผลลัพธ์ที่ออกมา
(2) แพ้ชนะไม่สำคัญเท่ากับว่าเขาได้เรียนรู้อะไรในตอนท้าย หรือ เขาทำอะไรได้มากขึ้น
(3) อย่าประเมินเด็กเพื่อวัดลำดับที่ แต่ให้ประเมินเพื่อจะเติมเต็มเขา ผลแคะแนนและเกรดไม่ควรสำคัญเท่ากับว่า เด็กคนนี้ทำอะไรได้ และมีอะไรที่เราสามารถเติมเต็มให้เขาได้
(4) ไม่เปรียบเทียบเด็กกับใคร เพราะเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทุกคนมีข้อดีของตัวเอง
(5) การสอบหรือการแข่งขัน ควรทำเมื่อเด็กพร้อม หรือ เขาเป็นคนขอให้เราพาเขาไป ไม่ใช่เราพาเขาไปเอง เพื่อตอบสนองความต้องการของเรา เด็กไม่ใช่ผลผลิตของผู้ใหญ่ เราไม่ใช่เจ้าของเขา และเราไม่ควรคาดหวังให้เขาเป็นตัวแทนของเราด้วย

อย่าสร้างทัศคติทางลบ โดยให้เด็กรับรู้ความล้มเหลวในช่วงปฐมวัย ไม่มีเด็กคนใดที่ควรโดนตัดสินว่า เขาดีหรือไม่ดีพอ ผ่านความคาดหวังของผู้ใหญ่เพียงกลุ่มเดียว
**********

สุดท้าย เด็กปฐมวัยทุกคน ควรได้รับความรักจากผู้เลี้ยงดูที่รักเขาอย่างปราศจากเงื่อนไข รักเขาในแบบที่เขาเป็น และเตรียมความพร้อมให้เขาสำหรับการเรียนรู้ในขั้นที่สูงขึ้นไป ไม่ใช่เร่งเขาให้เรียนรู้ก่อนวัย และกลัวหรือไม่อยากเรียนรู้ในอนาคต

มาช่วยกันสร้างเด็ก ๆ ที่รักการเรียนรู้กันนะคะ หวังว่า บทความนี้จะส่งเสียงไปถึงผู้ใหญ่ทุกคน “ขอให้เด็กทุกคนได้เป็นเด็ก”

ด้วยรักจากใจ
เม
เพจตามใจนักจิตวิทยา

ป.ล. ถ้าคุณพ่อคุณแม่ท่านใดเป็นกังวลว่า ลูกเราอาจจะต้องเรียนรู้ในแบบเฉพาะของเขา เราสามารถปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพื่อช่วยแนะแนวทางในการเรียนรู้ให้กับลูกได้ เด็กทุกคนเรียนรู้ได้ แต่วิธีการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน ดูน้อยลง

ที่มา www.facebook.com/followpsychologist/photos/a.199391690853593/671789946947096/