วาทกรรมโลกศิลปะโลกาภิวัตรร่วมสมัย Art Worlds

advertisements

วาทกรรมโลกศิลปะโลกาภิวัตรร่วมสมัย
อุทิศ อติมานะ
 
มีโอกาสได้อ่านหนังสือประกอบนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย จัดโดย ZKM ประเทศเยอรมัน มีชื่อนิทรรศการครั้งนี้ว่า “โลกาภิวัตรร่วมสมัยกับการเกิดขึ้นของโลกศิลปะแบบใหม่” (The Global Contemporary and the Rise of New Art Worlds) กระตุ้นความสนใจหลายๆ ประเด็น เมื่อพิจารณาภาพรวมวัตถุประสงค์ของสิ่งพิมพ์นี้ มุ่งนำเสนอภาพแทนของโลกศิลปะปัจจุบันที่ปรับตัวสู่ความเป็นวัฒนธรรมโลกาภิวัตร ที่เกิดจากความร่วมมือของประเทศต่างๆ ที่มีความแตกต่างหลากหลายมากกว่าที่ผ่านมา
 
อาจกล่าวได้ว่า จากโลกศิลปะ (Art World) ซึ่งอดีตสะท้อนเพียงบริบทวัฒนธรรมยุโรปและอเมริกาเป็นตัวละครนำหลัก สู่โลกาภิวัตรปัจจุบันที่ปรับเปลี่ยนมาสู่โลกศิลปะ (Art World ที่เติม s) ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประเทศต่างๆ มากยิ่งขึ้น
 
ในบทท้ายๆ หนังสือได้นำเสนอประเด็นวิชาการของโลกศิลปะและศิลปินร่วมสมัยในบริบทโลกาภิวัตร โดย หยิบยกกรณีศึกษาการปรับตัวของโลกศิลปะช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่มีความเป็นโลกาภิวัตรมากยิ่งขึ้น ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม ผ่านปฏิบัติการทางศิลปะของศิลปินร่วมสมัยจากนานาชาติ (มากยิ่งขึ้น) โดยจัดหมวดหมู่ตามประเด็นวิชาการสังคมศาสตร์ร่วมสมัย เป็น 8 มุมมอง ซึ่งสะท้อนความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างโลกของแนวคิดเชิงทฤษฎีทางสังคม และโลกของภาคปฏิบัติทางสุนทรีย์ เช่น การเกิดขึ้นของนวัตกรรมการเดินทาง ขนส่งทางอากาศ ได้สร้างประสบการณ์การรับรู้รูปแบบใหม่ในบริบทโลกาภิวัตรอย่างไร หรืออิทธิพลของสื่อสารมวลชนปัจจุบัน ที่สร้างปัจจัยการผสมผสานวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ๆ หรือแนวคิดหลังอาณานิคม (Post-colonial) ที่สร้างประเด็นด้านอัตลักษณ์ (Identity) ของผู้คนร่วมสมัยแบบใหม่ๆ หรือประเด็นเกี่ยวข้องกับช่องว่างการให้ความหมายภาพแทนต่างๆ (Representation) ระหว่างภาพแทนในโลกศิลปะร่วมสมัยกับวัฒนธรรมพื้นถิ่นในโลก หรืออิทธิพลของวัฒนธรรมสื่อใหม่ (Cyber Culture) ที่สร้างวิถีชีวิตโลกาภิวัตรรูปแบบใหม่ๆ หรือประเด็นบริโภคนิยม (Consumption) ในบริบทโลกศิลปะปัจจุบัน เป็นต้น
ในฐานะที่ผู้เขียนอยู่ในแวดวงการศึกษาขั้นสูงมาตลอด สังเกตเห็นสัญญาณความเปลี่ยนแปลงบางประการในระดับ “นิยาม” หรือ “หลักการ” พื้นฐานของศาสตร์ศิลปะปัจจุบัน ที่ต่อสู้เชิงความหมายกันมากว่า 500 ปี ระหว่างศาสตร์ศิลปะแบบดั้งเดิมในฐาน “งานช่าง” ที่สืบทอดศิลปะเชิงประเพณีในแต่ละวัฒนธรรมมากว่าหมื่นปี เป็นศาสตร์ศิลปะในฐานเครื่องมือของชนชั้นปกครอง ซึ่งถูกวาทกรรมความสมัยใหม่ในบริบทศิลปะสมัยใหม่ โต้แย้งมากว่า 5 ศตวรรษ จนกลายเป็นหลักการพื้นฐานกระแสหลักของวัฒนธรรมโลกาภิวัตรร่วมสมัยไปทั่วโลก
 
กล่าวได้ว่า ศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยมุ่ง “แนวคิดเชิงวิพากษ์” เหตุผล ความรู้ จริยธรรม ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และการทำหน้าที่สะท้อนบริบทความเป็นมนุษย์ของแต่ละยุคสมัย แต่ละทศวรรษ และมุ่งสะท้อน “เสียงของปัจเจกชน” ผ่านการแสดงออกเชิงสุนทรีย์ เพื่อตั้งคำถามใหม่ๆ ที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์สาธารณะ ขับเคลื่อนภายใต้บรรยากาศแห่งอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย
 
ย้อนหลังพัฒนาการเชิงวาทกรรมของโลกศิลปะ สัญญาณแรกของวาทกรรมความสมัยใหม่ในบริบทศาสตร์ศิลปะ น่าจะก่อรูปร่างราว 500 ปีที่ผ่านมาในยุคเรอเนซอง ยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ ประเทศอิตาลีคือศูนย์กลางวัฒนธรรมตะวันตก นิยามของศาสตร์ศิลปะ เริ่มถูกท้าทายและถูกนำเสนอในฐานะ “ความรู้” และเหตุผล ประเภทหนึ่ง ที่สำคัญต่อความเป็นอารยธรรมสมัยใหม่ เริ่มก่อตัวของแนวคิดมนุษยนิยม และปัจเจกนิยม เกิดแนวคิดเรื่องโน้ตดนตรี ซึ่งถูกพัฒนาบนหลักการคณิตศาสตร์ ที่เล่นตามจังหวะเป็นห้องๆ มีบันไดเสียง สามารถบันทึกจังหวะและองค์ประกอบของดนตรีได้อย่างแม่นยำ นอกจากนั้น ศิลปินเรอเนซองส่วนใหญ่นอกจากสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ยังค้นคว้าโลกของความรู้และเหตุผลคู่ขนาน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ Leonardo da Vinci เขาเชื่อว่า ศิลปะคือศาสตร์ที่ส่งเสริมความรู้เชิงเหตุผล ศิลปะกับความจริงเป็นเรื่องเดียวกัน ศิลปะไม่เพียงเกิดจากแรงบันดาลใจส่วนตัว ศิลปะคือศาสตร์ที่มีหลักการเฉพาะ ฯลฯ เหล่านั้นส่งผลให้ดาวินชี่ มีความสามารถที่หลากหลาย ทั้งวิศวกร นักธรรมชาตินิยม และศิลปะ เป็นต้น
 
ศิลปินรุ่นน้องร่วมยุคกับดาวินชี่ที่สำคัญอีกท่านหนึ่งคือ Michelangelo เขาเชื่อว่าศิลปะถูกกำกับด้วยความรู้เฉพาะ ศิลปินศิลปะต้องมีความรู้เฉพาะ การแกะสลักประติมากรรมที่งดงามไม่ใช่เกิดจากความบังเอิญ แต่มันมีหลักการ ความรู้ และเหตุผลเฉพาะทาง ถูกวางแผนมาอย่างดีภายใต้หลักการเฉพาะ เช่น ต้องมีความรู้องค์ประกอบศิลป์ หรือกายวิภาคมนุษย์ หรือความรู้ด้านทัศนียภาพ และคณิตศาสตร์ เป็นต้น ศิลปะเป็นนวัตกรรมโดยมนุษย์ หลักการด้านความงามเกี่ยวข้องกับความเป็นระบบระเบียบ (Order) ความกลมกลืน (Harmony) และสัดส่วนที่เหมาะสม (Proportion) เลียนแบบกฎที่ศักดิ์สิทธิ์ของธรรมชาติ จึงกล่าวได้ว่า ยุคเรอเนซองคือการก่อตัวของยุคแห่งความรู้ เหตุผล ความสมัยใหม่ในวัฒนธรรมยุโรป ที่จะส่งต่อสู่ยุคเหตุผลนิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ต่อมา
 
จุดเปลี่ยนสำคัญของศาสตร์ศิลปะต่อมา คงต้องอ้างถึง Alexander Baumgarten (1714-1762) ผู้ทำให้สุนทรียศาสตร์ยุคใหม่มีความเป็นปึกแผ่นเชิงวิชาการ โดยเฉพาะหนังสือที่เขาเขียนชื่อ Aesthetica (1750-1758) เขาตอกย้ำความสำคัญของศิลปะในฐานความรู้ที่ได้จากประสาทสัมผัส (ประสบการณ์เชิงสุนทรีย์) สุนทรียศาสตร์คือศาสตร์ของการรับรู้เชิงประสาทสัมผัส (a science of sensitive knowing) ไม่ใช่เป็นเพียงการเสริมความรู้เชิงตรรกวิทยา แต่มันมีคุณค่าและหลักการที่มีแบบฉบับเฉพาะที่เป็นเอกเทศ (autonomy) ของตัวมันเอง มีศักดิ์ศรีในฐานะศาสตร์สมัยใหม่ศาสตร์หนึ่ง เขาเชื่อว่า ความรู้เชิงสุนทรียศาสตร์ (aesthetic knowledge) คือกระบวนการทำให้อารมณ์ของมนุษย์ที่คลุมเครือ ถูกทำให้กลายเป็นโครงสร้างที่รับรู้ได้ในฐานะ “สื่อ”หรือ “ศิลปะ” ที่สามารถรับรู้เชิงประสบการณ์ ผ่านวัฒนธรรมทางสายตา (clear perceptual image) ได้อย่างชัดเจน มันเป็นสิ่งประดิษฐ์เชิงนวัตกรรมโดยมนุษย์ ที่มีลักษณะพิเศษ หล่อรวมทั้งเหตุผลและอารมณ์ของความเป็นมนุษย์ให้กลายเป็นรูปแบบหนึ่งของความรู้
 
ต่อมา Friedrich Nietzsche (1844-1900) ได้ช่วยเติมเต็มความหมายของศาสตร์ศิลปะ เขาตั้งคำถาม ศาสตร์ศิลปะสามารถทำอะไรให้ชีวิตได้ เขาเชื่อว่า ศิลปะที่ดีคือการส่งเสริมความหมายของชีวิต เพราะชีวิตคือปัญหา ความน่ากลัว ความสยองขวัญ และความไร้สาระ ศิลปะสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตออกจากบริบทปัญหาดังกล่าว สิ่งท้าทายของชีวิตคือการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม ศิลปะมีประโยชน์ในฐานะปกป้องเราจากความกลัว สู่การมองโลกในเชิงบวก (Optimistic) มากยิ่งขึ้น ศิลปะคือกระบวนการทำให้ชีวิตที่ไร้สาระ ว่างเปล่า กลายเป็นชีวิตเชิงสุนทรีย์ (Aestheticization of Life) ดูเหมือนว่า นิยามศิลปะในความหมายของ Nietzsche ไม่ใช่เพียงการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ แต่เชื่อมโยงความหมายของศิลปะกับการใช้ชีวิตที่สร้างสรรค์ ชีวิตแต่ละคนคือสิ่งสร้างสรรค์โดยเราเอง
 
ประเด็นศีลธรรมกับศิลปะ ถูกนำเสนอต่อมาโดย Leo Tolstoy (1828-1910) เขาตอกย้ำประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับศีลธรรมในสังคมต้องเชื่อมโยงกัน เขาเชื่อว่า การตัดสินคุณค่าทางศิลปะเป็นเช่นเดียวกับการตัดสินคุณค่าเชิงศีลธรรม ศิลปะที่ดีควรส่งเสริมอุดมการณ์ของสังคมเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่การรับใช้กลุ่มผลประโยชน์เฉพาะ เขาคาดหวังกิจกรรมศิลปะไม่เพียงเน้นความบันเทิงประโลมโลก เพื่อให้เราลืมโลกแห่งความจริงชั่วคราว หรือส่งเสริมกิจกรรมบันเทิงตอบสนองชนชั้นปกครองเท่านั้น ศิลปิน ศิลปะ ควรทำหน้าที่ส่งเสริมชีวิตเชิงศีลธรรม และการวิจารณ์ เพื่อนำไปสู่ผลประโยชน์สาธารณะของคนส่วนใหญ่ เขาไม่เห็นด้วยที่ศิลปะมาจากแรงบันดาลใจส่วนตัวของศิลปินเท่านั้น โดยปราศจากความเชื่อมโยงกับมิติทางวิชาการร่วมสมัยเลย ศิลปะไม่เพียงเป็นสิ่งสร้างสรรค์ที่เน้นความสวยงามทางกายภาพ แต่เป็นศิลปะที่เนื้อหาส่งเสริมชีวิตเชิงศีลธรรมของสังคม
 
Martin Heidegger (1889-1975) ถือเป็นนักคิดอีกท่านที่ช่วยวางหลักการพื้นฐานของศาสตร์ศิลปะในปัจจุบัน เขานำเสนอแนวคิดที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่ง ประเด็นแรกคือการแยกระหว่าง งานช่าง และผลงานศิลปะออกจากกัน และประเด็นที่ 2 “ศิลปะในฐานะภาพแทนยุคสมัย” เขาเชื่อว่า ศิลปะช่วยสร้างสำนึกเชิงประวัติศาสตร์ และอัตลักษณ์เชิงวัฒนธรรม สำนึกเหล่านั้น สามารถสร้างได้ผ่านศิลปะ เขาย้ำจุดยืนของศาสตร์ศิลปะหรือสุนทรียศาสตร์ ไม่ใช่งานเชิงช่างฝีมือ แต่เป็นแนวคิดริเริ่มสร้างสรรค์
 
เขาเชื่อว่า ศิลปะที่เน้นแนวคิดเกิดครั้งแรกในยุคศิลปะกรีกเมื่อ 2,500 ปีที่ผ่านมา เป็นศิลปะแห่งแนวคิดเชิงปรัชญาและทักษะเชิงช่างผสมผสานกัน หัวใจของศิลปะกรีกเน้นแนวคิดเชิงปรัชญามากกว่าเพียงการสืบทอดขนบด้านทักษะฝีมือ ทำตามๆ กัน เขาเห็นว่า ถ้าศิลปะปราศจากแนวคิดเชิงปรัชญา ศิลปะจะถึงจุดจบ ประวัติศาสตร์จะไม่เกิดศิลปะร่วมสมัยเช่นปัจจุบัน นอกจากนั้น เขายังเชื่อว่า ศาสตร์ศิลปะน่าจะเป็นทางออกหรือทางเลือกใหม่ เป็นกระบวนการทางปัญญารูปแบบใหม่ของอารยธรรมสมัยใหม่
 
สำหรับประเด็นการนิยามในความเห็นต่างระหว่าง หัตถกรรม (งานช่าง) และผลงานศิลปะ เขากล่าวว่า ศิลปะอ้างถึงการสร้างสื่อที่เชื่อมโยงถึงความหมาย หรือแนวคิดเชิงปรัชญา ส่วนหัตถกรรมเน้นเพียงเทคนิค ดังนั้นหัตถกรรมจึงไม่ใช่ศิลปะ เพราะหัตถกรรมเป็นเพียงเพื่อประโยชน์ใช้สอยเชิงกายภาพ แต่ศิลปะมีเป้าหมายของตัวมันเองในฐานะศาสตร์ศิลปะ เพื่อชี้นำความหมายของชีวิตและสังคมในมุมมองใหม่ ที่สัมพันธ์กับบริบทของยุคสมัย เขาเชื่อว่า ศิลปินต้องไม่ติดกับเทคนิคหรือฝีมือเชิงช่าง แต่มุ่งทำหน้าที่สร้างพัฒนาการเชิงแนวคิดใหม่ๆ แสวงหาคำถามใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ การใช้เครื่องมือหรือเทคนิค เป็นเพียงรูปแบบการแสดงออก เป็นทางผ่านของแนวคิดเท่านั้น
 
เขาตอกย้ำว่า มนุษย์และศิลปินล้วนถูกผลิตในเวลาและบริบทเชิงประวัติศาสตร์ (Being and Time) ความเป็นมนุษย์ (Being) ต้องปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงของเวลาในแต่ละยุคสมัย แต่มนุษย์ส่วนใหญ่มักมีแนวโน้มติดยึดกับอดีต โดยเฉพาะสำนึกอนุรักษ์นิยม ขนบธรรมเนียมประเพณี ฯลฯ เราต้องตระหนักว่า ทุกอย่างเปลี่ยนแปลง ปรับตัวตลอดเวลา ศิลปะ ทำหน้าที่สะท้อนการปรับตัวของมนุษย์ตามความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ให้กลายเป็นสื่อเชิงรูปธรรมที่สังคมสามารถเรียนรู้ได้
 
นักคิดสำคัญต่อมา Theodor Adorno (1903-1969) ได้ช่วยเติมเต็มบทบาทของศิลปินในฐานะนักสังคมศาสตร์ที่ควรมีความรอบรู้ในปัญหาสังคมเชิงโครงสร้างที่ลึกซึ้ง เขาเชื่อว่า มนุษย์ถูกผลิตจากบริบทปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ของแต่ละยุคสมัย เขาเห็นว่า จะเข้าใจศิลปะต้องจับคู่กับบริบททางประวัติศาสตร์ ที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัยประกอบกันเสมอ ศิลปะทำหน้าที่สะท้อนกระบวนการเปลี่ยนแปลงคุณค่าเชิงสังคม วงการศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโดยรวม ไม่มีพื้นที่พิเศษ พื้นที่เฉพาะ พื้นที่ที่เป็นเอกเทศ หรืออภิสิทธิ์ใดๆ เพื่อวงการศิลปะ
 
นอกจากนั้นประเด็นเสรีภาพ เขาเชื่อว่าเป็นคุณค่าหลักที่สำคัญในสังคมเสรีประชาธิปไตยสมัยใหม่ ซึ่งศาสตร์ศิลปะคือการแสดงความมีเสรีภาพในเชิงสัญลักษณ์ หรือเชิงจินตนาการ ผ่านกิจกรรมที่เน้นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ แสวงหามุมมองใหม่ๆ ต่อชีวิตและสังคม โลกศิลปะ คือโลกแห่งการวิจารณ์เชิงปัญญา ศิลปะควรช่วยส่งเสริมความเข้าใจชีวิตเชิงสังคม เฉกเช่นจุดยืนของสังคมศาสตร์ นอกจากนั้น เขายังเชื่อว่า ศิลปะทำหน้าที่ได้ดีกว่าสังคมศาสตร์ในบางประเด็น โดยเฉพาะประเด็นการเข้าถึงผู้คนส่วนใหญ่ผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ ที่ดึงดูดความน่าสนใจต่อมวลชน นอกจากนั้น เขายังเชื่อว่า ศิลปินและผลงานศิลปะของพวกเขา สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ ถ้าศิลปินมีทักษะการวิเคราะห์และเข้าใจสังคมในระดับปัญหาเชิงโครงสร้าง เฉกเช่นนักสังคมศาสตร์
 
นักคิดร่วมสมัยที่สำคัญท่านสุดท้ายที่ยกมาในที่นี้คือ Jacques Ranciere เขาเชื่อว่า ศิลปินคือนักวัฒนธรรมที่ควรส่งเสริมอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย ศิลปะเกี่ยวข้องกับการนำเสนอคำถามที่ท้าทาย แสวงหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ เชิงสร้างสรรค์ ศิลปินควรแสวงหาความเห็นต่าง (dissensue) เชิงวิชาการใหม่ มุ่งขยายศักยภาพของศาสตร์ศิลปะ ทำให้ผู้คน หรือแนวคิดชายขอบ (marginalized voice) มีเสียงในพื้นที่สาธารณะ ปฏิบัติการของศิลปินคือการขยายความ “ตัวตน” ของมนุษย์ให้กลายเป็นรูปธรรม หรือสื่อที่จับต้องเรียนรู้ได้ นำเสนอวัตถุทางสุนทรีย์และรูปแบบเชิงสุนทรีย์ในฐานะคำถามใหม่ๆ ที่ท้าทาย น่าสนใจ และสำคัญของยุคสมัย ศิลปะคือสิ่งประดิษฐ์เชิงนวัตกรรมที่สามารถสะท้อนความรู้สึกของมนุษย์ (sensible world) ขยายขอบเขตนิยามความรู้ใหม่ๆ สร้างมุมมองความคิดเห็นที่แตกต่างเชิงสร้างสรรค์ สามารถก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่คาดฝัน และไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า นำไปสู่การปรับตัวของสังคมโลกเชิงความรู้สึกของมนุษย์
 
นอกจากนั้น เขายังเสนอว่า ศิลปะคือเทคโนโลยีการขยายความหมายของโลกเชิงผัสสะ เช่น การเห็น การได้ฟัง การสัมผัส ฯลฯ ที่มีต่อโลกรอบตัวเรา ศิลปะคือการสร้างข้อเสนอ (proposals) ที่ทรงอิทธิพล เพื่อเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้คนร่วมสมัย เป็นข้อเสนอเพื่อชีวิตและสังคมในมุมมองใหม่ๆ เขาเชื่อว่า ความเห็นต่างคือ ความเสมอภาค (dissensue is equality) ศิลปะคือพื้นที่สาธารณะที่เป็นกลาง (neutralization) เป็นการเล่นอย่างอิสระเชิงสุนทรีย์ (aesthetic free play) เพื่อการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง นิยามความหมาย ความเป็นมนุษยนิยม
 
มาถึงย่อหน้านี้ ผู้เขียนเพียงต้องการสะท้อนให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์ พัฒนาการของศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยนั้น เกิดจากกระบวนการทางปัญญาของมนุษย์ที่ผ่านมากว่า 5 ศตวรรษ ที่ร่วมกันสร้างสรรค์ ต่อยอด นิยามความหมายของศาสตร์ศิลปะร่วมสมัย จนกลายมาเป็นกระแสหลักทางวัฒนธรรมโลกาภิวัตรในปัจจุบัน ซึ่งวางอยู่บนหลักการพื้นฐานของ ความรู้ เหตุผล ศีลธรรม มนุษยนิยม ความเป็นตัวแทนของยุคสมัย แนวคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และการส่งเสริมอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย เป็นต้น
 
นอกจากนั้นยังต้องการสะท้อนให้เห็น ความสัมพันธ์ที่แยกไม่ออกระหว่าง แนวคิดเชิงทฤษฎี และภาคปฏิบัติการเชิง    สุนทรีย์ ในศาสตร์ศิลปะ ว่ามีการเชื่อมโยง ส่งเสริมและเกื้อกูลกันอย่างไร และต้องการตั้งคำถามถึงคุณภาพ ประสิทธิภาพ ขีดความสามารถในการแข่งขัน ความสำเร็จหรือความล้มเหลว ฯลฯ ต่อสถาบันการศึกษาขั้นสูงทางศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย ซึ่งเป็นสถาบันที่จัดการเรียนการสอนเกี่ยวข้องกับวาทกรรมศิลปะสมัยใหม่ หรือศิลปะร่วมสมัย และผลิตบุคลากรด้านศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยมากว่าศตวรรษที่ผ่านมา สถาบันเหล่านั้นได้ช่วยทำหน้าที่ให้คนรุ่นใหม่ได้มีความรู้เท่าทัน และมีส่วนร่วมสร้างกระบวนการทางปัญญาที่เชื่อมโยงกับโลกาภิวัตรอย่างมีคุณภาพมากน้อยอย่างไร และคำถามสุดท้าย สังคมไทยมีความเข้าใจมากน้อย เกี่ยวกับการนิยามความแตกต่างระหว่าง “ช่าง” และ “ศิลปะ” อย่างไร ผู้เขียนเชื่อว่า ตัวอย่างคำถามเหล่านี้ยังคงเป็นประเด็นคำถามที่ท้าทายต่อไปในสังคมไทย
 
เครดิต ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี
 
source: www.facebook.com/uthit.atimana/posts/10205215452100017

Tagged on: