Marina Abramović: ศิลปิน Performance Art กับผลงาน The Artist Is Present

advertisements

Review โดยคุณธันยพร หงษ์ทอง

Marina Abramović: The Artist Is Present
Directors Matthew Akers, Jeff Dupre
Released 2012
Running Time 106 minutes

ฉากหนึ่งในซีรี่ส์ Sex and the City (Season 6) ที่ Carrie Bradshaw พบกับศิลปินรัสเซีย Aleksandr Petrovsky เป็นครั้งแรก เกิดขึ้นในแกลเลอรี่ที่มีศิลปินหญิงคนหนึ่งกำลังจัดแสดง performance art ศิลปินสาวหน้าตาถมึงทึงราวผีดิบแสดงสดด้วยการเข้ามาอาศัยอยู่ในสิ่งก่อสร้างขนาดเล็กจำนวน 3 ห้อง ในแกลเลอรี่เป็นเวลา 12 วัน ไม่กินอาหาร ดื่มแต่น้ำ และเปิดเปลือยทุกขณะของชีวิตทั้งหมดให้ผู้ชมได้เห็น

ผู้คนในโลกศิลปะต่างรู้ดีว่าศิลปะแสดงสดในฉากนั้นอ้างอิงมาจาก The House with the Ocean View (2002) ของ Marina Abramović แต่อีกหลายคนในสังคมก็คงเหมือน Carrie Bradshaw ที่แอบหัวเราะคิกคักกับเพื่อนสาว เพราะมองว่าการกระทำของเธอช่างน่าขันไร้สาระ แถมยังตั้งคำถามขึ้นมาว่าสิ่งนี้ ‘เป็นศิลปะตรงไหน?’
“ตลอด 40 ปี ที่ผ่านมา คำถามที่ฉันได้ยินบ่อยที่สุดคือ สิ่งนี้เป็นศิลปะตรงไหน?” Abramović ในวัย 63 กล่าว แน่นอนคำถามนี้เชยไป (นาน) แล้วเรียบร้อยโรงเรียน Conceptual Art และไม่ใช่สิ่งสำคัญที่ต้องป่วยการควานหาคำตอบอีกต่อไป

แต่อย่างไรเสีย เราต้องยอมรับว่ามันยังคงเป็นคำถามที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่ดี อาจเพราะเหตุนี้ภาพยนตร์สารคดี Marina Abramović: The Artist Is Present จึงนำคำถามที่ว่าขึ้นมาวางไว้ต้นเรื่อง พร้อมเปิดเรื่องด้วยภาพผู้คนตามที่สาธารณะต่างๆ ที่กำลังมองศิลปะของ Abramović (ผ่านสื่อวิดีโอและภาพถ่าย) ที่ส่วนมากข้องเกี่ยวกับความรุนแรงและการเปลือยกายด้วยสายตาดูหมิ่นเหยียดหยาม แต่ผู้กำกับ Matthew Akers ก็ไม่ได้ให้คำตอบตรงไปตรงมาว่าศิลปะแสดงสดของ Abramović “เป็นศิลปะตรงไหน?”

แต่กลับเล่าเรื่องที่ก่อให้เกิดคำถามตามมาอย่างทันทีทันใดอีกว่า หากเป็นเช่นนั้น ทำไมเมื่อถึงวันเปิด The Artist Is Present ที่ The Museum of Modern Art (MoMA) – นิทรรศการ retrospective ของ Abramović ที่นอกจากผลงานในอดีตที่ถูกรวบรวมมาแล้ว ศิลปินยังแสดงสดด้วยการมานั่งจ้องตาผู้ชมแต่ละคนเป็นระยะเวลา 3 เดือน – กลับมีผู้คนแห่แหนมาจองคิวยาวเหยียดเพื่อนั่งมองหน้าเธอ?

Marina Abramović: The Artist Is Present เป็นภาพยนตร์สารคดีที่ติดตามความเคลื่อนไหวนิทรรศการ The Artist Is Present เมื่อปี 2010 แต่อาจเพราะศิลปะแสดงสดที่มีศิลปิน ‘นั่งนิ่งๆ’ ตลอด 750 ชั่วโมง นั้นดูจะเป็นความเคลื่อนไหวที่แทบไม่มีความเคลื่อนไหว และก็ไม่เพียงพอที่จะให้ผู้ชมเข้าใจตัวตน ผลงาน และความคิดของ Abramović ดังนั้นผู้กำกับจึงดึงเอาเนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการทำงานตลอด 6 เดือน ก่อนหน้าเข้ามาเพิ่มเติม รวมทั้งย้อนกลับไปเล่าเรื่องผลงานที่ผ่านมาของ Abramović และยังแตะชีวิตส่วนตัวของเธอเล็กน้อย จนกลายเป็นโครงสร้างหลักของหนัง
ส่วนผสมของเนื้อหา 2-3 ส่วนนี้นับว่าลงตัว เพราะแม้หนังจะไม่ได้ลงลึกไปในรายละเอียดของศิลปะแสดงสดแต่ละงานของ Abramović มากนัก แต่การนำเอาภาพผลงานเหล่านั้นมาฉายให้ดูคร่าวๆ ประกอบกับคำบอกเล่าจากผู้คนในแวดวงศิลปะ ก็แสดงให้เห็นได้อย่างดีถึงความกล้า ความจริงใจ หัวก้าวหน้า และเป้าหมายที่ต้องการทดลองศักยภาพของร่างกายและจิตใจของ Abramović ผ่านงานศิลปะของตัวเองออกมา ภาพความเป็น ‘ศิลปิน’ ของ Abramović ส่วนนี้เองเป็นภาพลักษณ์ที่เราต่างคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว และก็ไม่แปลกที่จะทำให้หลายคนมองเธอเป็นหญิงสาวที่อยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างศิลปะและโรงพยาบาลบ้า อย่างที่ Sex and the City เอาไปล้อเลียนไว้

แต่แล้วเมื่อหนังตัดสลับผลงานในอดีตของเธอกับกระบวนการตระเตรียมนิทรรศการครั้งนี้ โดยเผยให้เห็นปฏิสัมพันธ์ที่เธอมีต่อผู้คนรอบข้างในชีวิตจริง ตั้งแต่ การถ่ายภาพโปรโมท พูดคุยหยอกล้อกับเพื่อนร่วมงาน เวิร์กช็อปกับ 30 ศิลปิน ที่เธอเลือกมาเป็นตัวแทนแสดงผลงานที่ผ่านมา (ในเวิร์กช็อปนี้เรายังได้เห็นความหมายของศิลปะของเธอชัดเจนมากกว่าคำอธิบายไหน) และทำอาหารที่บ้านในชนบทของเธอ ฯลฯ ภาพของศิลปินหญิงที่น่าเกรงขามข้างต้นก็เริ่มหลอมละลายกลายเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดา และเมื่อดำเนินเรื่องต่อไป หนังก็ยังแสดงให้เห็นข้อผิดพลาดอันเป็นธรรมดาของมนุษย์ เช่น ตอนที่เธอเสนอไอเดียทำงานร่วมกับนักมายากลแก่ Sean Kelly แต่เมื่อถูกปฏิเสธว่าเป็นไอเดียที่แย่ เธอก็ถามถึงเหตุผลและยอมรับโดยดี

พูดง่ายๆ ก็คือ ในเบื้องหลังกระบวนการทำงานและชีวิตประจำวันของ Abramović เหล่านี้ หนังได้เผยให้ผู้ชมเห็นตัวตนของ ‘Grandmother of performance art’ ที่อยู่นอกเหนือบทบาท performer ได้เห็นอารมณ์ขัน เสน่ห์ จริต มนุษย์สัมพันธ์ ความรู้สึกหลากหลาย หรือในภาพรวมก็คือ ‘ความเป็นมนุษย์’ ที่จับต้องได้ของ Abramović ได้เห็นว่าถึงแม้เวลา perform เธอจะดูดุดัน แต่จริงๆ แล้วเธอก็เป็นผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง (ที่แค่แกร่งเกินหญิงเท่านั้น) ที่สำคัญ เธอเป็นคนตลกและไม่ได้ต้องการภาพลักษณ์ของการเป็น ‘ศิลปิน’ เช่นนั้นตลอดเวลา เหมือนกับตอนหนึ่งที่เธอพูดเกี่ยวกับศิลปะของเธอไว้ว่า “แต่จู่ๆ ผู้คนก็เลิกถามคำถามนี้ไป (ว่ามันเป็นศิลปะตรงไหน?) พวกเขาอาจเข้าใจมันในที่สุด หรือไม่ก็แสร้งทำเป็นว่าเข้าใจ” และ ตอนที่เธอพูดติดตลก “คุณอายุ 20-30-40 และเป็นศิลปินทางเลือก มันไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ปัดโธ่! นี่ฉันอายุ 63 แล้วนะ ฉันไม่อยากเป็นแล้วไอ้ศิลปินทางเลือกน่ะ!”

advertisements

‘ความเป็นมนุษย์’ และ ‘ความเป็นผู้หญิง’ ของ Abramović นี้เองที่พาผู้ชมขับเคลื่อนไปข้างหน้าพร้อมกับหนังได้เกือบตลอดทั้งเรื่อง ซ้ำตัวตนด้านนี้ของ Abramović ยังเห็นได้เด่นชัดที่สุด เมื่อตอนที่หนังเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของเธอกับ Uwe Laysiepen หรือ Ulay ศิลปิน performance art ชาวเยอรมันที่อยู่กินและทำงานร่วมกับ Abramović มาตลอด 13 ปี (1976-1989)

หลังจากพบกันในปี 1976 Abramović และ Ulay กลายเป็นคู่หัวตัวติดกัน พวกเขาใช้เวลา 5 ปี อาศัยอยู่ในรถตู้ที่ตระเวนขับไปตามชนบทเพื่อแสดงศิลปะแสดงสด พวกเขายังร่วมแสดงใน performance art หลายชิ้น เช่น Imponderabilia (1977) ที่ทั้งคู่เปลือยกาย ยืนประจันหน้าห่างกันราว 1 ฟุต ในประตูทางเข้าแกลเลอรี่ ทำให้คนที่ต้องการจะเดินเข้าไปต้องแทรกตัวผ่านตรงกลาง, The Other: “Rest Energy” (1980) ที่ทั้งคู่ถือธนูคนละด้าน Abramović ยืนอยู่ด้านที่ลูกศรเล็งตรงเข้าที่ลำตัว ง้างออก และบาลานซ์น้ำหนักทั้งสองด้านอย่างน่าหวาดเสียว และก่อนที่จะสิ้นสุดความสัมพันธ์ ทั้งคู่ยังได้ร่วมงานกันครั้งสุดท้ายใน The Lovers: The Great Wall Walk (1988) โดยทั้ง Ulay และ Abramović เริ่มต้นเดินเท้าจากสุดฝั่งกำแพงเมืองจีนทั้งสองด้าน ใช้เวลาเดินทั้งหมด 90 วัน และเมื่อพบกันที่จุดกึ่งกลางก็ตัดสินใจโบกมือลา และเดินทางต่อไปตามเส้นทางของแต่ละคน

Abramović และ Ulay กลับมาเจอกันอีกครั้งที่นิวยอร์กก่อนนิทรรศการครั้งนี้จะเริ่มต้น พวกเขาใช้เวลาร่วมกัน ขับรถเที่ยวด้วยกัน (ตามประสาผู้หญิงส่วนมาก เธอลืมดึงเบรกมือลงและขับรถได้แย่มาก!) และทำอาหารรับประทานด้วยกัน Ulay ยังเป็นหนึ่งในผู้ชมจำนวนแรกๆ ของ Abramović ที่เข้าไปนั่งจ้องตากับเธอในพื้นที่สี่เหลี่ยมกลางแกลเลอรี่ที่เธอเรียกว่า ‘Square of Light’ หากบอกว่าเรื่องราวเหล่านี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของหนังก็คงจะได้ โดยเฉพาะในแง่มุมชีวิตส่วนตัวของ Abramović ที่เราได้เห็นเธอในรูปแบบที่ ‘ธรรมดา’ มากที่สุด และเป็น ‘ผู้หญิงปกติ’ มากที่สุด

แต่แล้วจุดที่พีคที่สุดในประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ของเธอกับ Ulay ก็คงจะเป็นตอนที่เธอนั่งอยู่ใน Square of Light เงยหน้าขึ้นมาแล้วเห็นอดีตคู่ชีวิตนั่งอยู่ตรงหน้า Abramović ยิ้มราวกับหญิงสาวแรกรุ่น น้ำตาไหลอาบสองแก้ม ค่อยๆ เลื่อนตัว ยื่นมือไปยัง Ulay และทั้งคู่ก็จับมือกัน นับเป็นหยดน้ำตาเดียวของ Abramović ตลอด 3 เดือนที่ MoMA และสัมผัสทางร่างกายครั้งเดียวที่เธอมีต่อผู้ชม
หลังจากนั้น หนังเดินเรื่องต่อไปโดยยกเอาคำถามเดิมกลับมาอีกครั้งว่า การนั่งนิ่งไม่ทำอะไรของ Abramović รวมไปถึงการเปลือยกายยืนนิ่งเป็นหุ่นของศิลปินคนอื่นๆ ในแกลเลอรี่ ‘เป็นศิลปะตรงไหน?’ แต่ก็เช่นเคยที่ไม่มีการตอบคำถามโดยตรง (มันคงตอบกันภายในประโยคสองประโยคไม่ได้อยู่แล้ว) แต่หนังได้เล่าเรื่องถึงสิ่งที่เกิดขึ้นตลอด 3 เดือนนั้นใน MoMA แทน

ตามความคิดส่วนตัวแล้ว เนื้อหาที่เหลือของหนังถัดจากนี้ออกจะยาวและขาดรสชาติ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะฉากที่ Abramović ประจันหน้ากับ Ulay ใน Square of Light นั้นดึงอารมณ์ของผู้ชมขึ้นไปเกือบจะสูงสุดแล้ว ดังนั้นเรื่องราวที่ตามมาก็ควรจะหิ้วเอาอารมณ์ที่ขึ้นไปชิดเพดานอยู่แล้วให้ขึ้นสูงต่อไปได้อีกสักระยะก่อนที่จะค่อยๆ ผ่อนลงมา แต่ในความเป็นจริง หนังเหลือเส้นเรื่องอยู่เพียงเส้นเดียว นั่นคือ ตัวนิทรรศการ retrospective ที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้น ซึ่งการนั่งจ้องหน้ากับ Abramović ก็ไม่เพียงพอที่จะพาหนังส่วนที่เหลือให้เดินต่อไปได้อย่างน่าติดตามเท่ากับครึ่งเรื่องแรก เพราะผู้ชมส่วนมากต่างรู้ดีอยู่แล้วว่า Abramović นั่งแช่อยู่ 3 เดือน จนจบไปด้วยดี และก็มีผู้ชมส่วนหนึ่งร้องไห้ มีเคสแปลกๆ เข้ามานั่ง มีเซเล็ปมาร่วมงาน อะไรต่างๆ นานา

อย่างไรก็ตาม อาจเป็นไปได้ว่าเหตุที่ Akers ตัดสินใจให้เวลากับส่วนนี้ของหนังมากหน่อยเป็นเพราะเขาต้องการถ่ายทอดดวงตาและใบหน้าของ Abramović ที่มองมายังผู้ชมแต่ละคนผ่านภาพที่ฉายซ้ำไปซ้ำมา ให้เห็นถึงอารมณ์ของผู้ชมในเก้าอี้ฝั่งตรงข้ามที่บางคนยิ้ม บางคนกังขา บางคนร้องไห้ รวมทั้งต้องการให้ผู้ชมหนังของเขาที่ไม่ได้ไปอยู่ใน Square of Light สามารถรับรู้และเข้าใจความรู้สึกที่เกิดขึ้น ณ ‘พื้นที่ตรงนั้น’ ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ภาพทั้งหมดยังถูกเสริมด้วยความเห็นจากศิลปิน “บางคนมาเพราะโกรธ บางคนมาเพราะสงสัย หรือไม่ก็อยากรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่นี่ หรือบางคนก็พร้อมที่จะเปิดใจให้เห็นบาดแผลข้างในของเขา” รวมทั้งคำบอกของผู้ชมส่วนหนึ่ง ทั้งที่มานั่งแล้วร้องไห้ ตั้งใจมาเปลื้องผ้านั่งเปลือย (แต่ถูกรปภ. หิ้วออกไปก่อน) เซเล็ปคู่ซี้ (James Franco) ที่เปรียบเทียบการ perform ของเธอกับ acting และชายหนวดงามที่มานั่งกับ Abramović ทั้งหมด 21 ครั้ง (ส่วนมากเขาจะร้องไห้) จนถึงกับสักเลข 21 ไว้ที่แขน

แต่ในจำนวนคำบอกเล่าทั้งหมด ไม่มีใครพูดถึงเรื่องว่าเป็นศิลปะหรือไม่อย่างไรอีกเลย…
เช่นเดียวกับผู้ที่ได้ชมหนังสารคดีเรื่องนี้มาตลอด 106 นาที ที่ต่อให้เป็น Carrie Bradshaw ก็คงไม่คิดถามคำถามนี้อีกต่อไป

ธันยพร หงษ์ทอง

ที่มา