เทคนิคการถ่ายภาพ : ความไวแสง ISO คืออะไร?

advertisements

ความไวแสง ISO คืออะไร?

ความไวแสง ISO ทำหน้าที่ควบคุมระดับความไวต่อแสงที่มากระทบของเซนเซอร์ภาพ การตั้งค่า ISO สูงๆ ทำให้เซนเซอร์กล้องของคุณไวต่อแสงมากขึ้น คุณจึงถ่ายภาพในที่มืดได้ ทั้งนี้ ISO ยังมีผลต่อภาพถ่ายของคุณในด้านอื่นๆ อีก (เรื่องโดย: Ryosuke Takahashi)

 

ความไวแสง ISO คืออะไร?

ความไวแสง ISO เป็นศัพท์กล้องที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง ISO ย่อมาจาก “International Organisation for Standardisation” ซึ่งหมายถึงส่วนประกอบที่กำหนดมาตรฐานสากล ในการถ่ายภาพดิจิตอล ความไวแสง ISO จะใช้ในการกำหนดความไวต่อแสงของเซนเซอร์ CMOS เช่นเดียวกับแนวคิดเรื่องความไวแสง ISO ระดับต่างๆ ในกล้องฟิล์ม เช่น ISO 100 และ 400 การเพิ่มค่า ISO นั้นจะเป็นการเพิ่มระดับความไวต่อแสง ตัวอย่างเช่น ในสภาพที่มีแสงน้อยซึ่งมักจะต้องใช้แฟลชช่วย เมื่อเพิ่มระดับความไวแสง ISO ก็กลับสามารถถ่ายภาพในบรรยากาศเช่นนี้ได้โดยไม่ต้องพึ่งแฟลช เราได้เรียนรู้ในบทก่อนหน้านี้ว่า เราสามารถควบคุมระยะชัดลึกชัดตื้น (ปริมาณของโบเก้) ได้ด้วยค่ารูรับแสง และควบคุมการเคลื่อนที่ของวัตถุได้ด้วยความเร็วชัตเตอร์ ด้วยปริมาณการเปิดรับแสง (ปริมาณแสง) ที่เกิดขึ้นจากค่ารูรับแสงกับความเร็วชัตเตอร์ ผนวกกับความไวแสง ISO คุณจะได้เพลิดเพลินไปกับการสื่อสารผ่านภาพถ่ายได้หลากหลายขึ้น

ความไวแสง ISO และค่าการเปิดรับแสง

ตัวอย่างภาพที่ถ่ายด้วยความไวแสง ISO สูง

f/5.6

Manual exposure (1/800 วินาที, f/4)/ ISO 6400

ในภาพนี้ การเคลื่อนไหวของนักดนตรีถูก “หยุดนิ่ง” เพราะใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง ผมไม่ยิงแสงแฟลช เพื่อจะไม่ลดทอนบรรยากาศจริงในภาพที่ได้ นี่เป็นตัวอย่างฉากที่มีแสงน้อย ซึ่งสามารถถ่ายไว้ได้อย่างสวยงามด้วยความไวแสง ISO สูงๆ

ตัวอย่างภาพที่ถ่ายด้วยความไวแสง ISO ต่ำ

Aperture-priority AE (1/25 วินาที, f/25)/ ISO 100

ในภาพนี้ ผมเลือกความไวแสง ISO ต่ำ แล้วลดขนาดรูรับแสงเพื่อให้ความเร็วชัตเตอร์ช้าลง การทำอย่างนั้นทำให้แสงหน้ารถและท้ายรถเบลอ และเกิดเส้นสายของแสงไฟขึ้นในภาพ

ความเร็วชัตเตอร์เพิ่มขึ้นตามความไวแสง ISO

การเพิ่มความไวแสง ISO เอื้อให้คุณสร้างสรรค์ภาพที่คมชัดได้แม้ในที่ซึ่งแสงสลัว ไม่เพียงเท่านั้น การเลือกความไวแสง ISO สูงในสถานที่ที่สว่างยังเป็นการเปิดให้เซนเซอร์ภาพรับเอาปริมาณแสงได้มากในเวลาอันสั้น ทำให้คุณใช้งานชัตเตอร์ความเร็วสูงกว่าเมื่อตั้งค่าความไวแสง ISO ต่ำ สำหรับการถ่ายภาพกีฬา เป็นธรรมดาที่จะใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงๆ อย่าง ISO 400 เมื่อถ่ายภาพในช่วงกลางวัน

ISO 200, 1/50 วินาที

ISO 800, 1/200 วินาที

กับภาพที่ถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์ 1/200 วินาทีนั้น ผมสามารถ “หยุด” ชั่วขณะที่ตัวแบบกระโดดได้อย่างที่ต้องการ สต็อปของความไวแสง ISO จะสอดคล้องไปทางเดียวกันกับสต็อปของความเร็วชัตเตอร์

advertisements

การลดจุดรบกวนหลายภาพ (Multi Shot Noise Reduction) ช่วยลดจุดรบกวนที่ความไวแสง ISO สูง

จุดรบกวนเกิดขึ้นเมื่อมีความผิดปกติในคลื่นสัญญาณขณะที่กำลังแปลงแสงที่ได้รับบนเซนเซอร์ CMOS ให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า หรือเมื่อขยายสัญญาณ โดยปกติ จุดรบกวนมีแนวโน้มจะเกิดมากขึ้นเมื่อใช้ความไวแสง ISO สูง อย่างไรก็ตาม สำหรับซีรีย์ EOS กล้องจะมีเซนเซอร์ภาพ CMOS ซึ่งสามารถลดจุดรบกวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ระบบประมวลผลภาพสมรรถนะสูง (DIGIC) ก็ทำงานเพื่อขจัดจุดรบกวนเช่นกัน อาทิ กล้องที่มาพร้อมกับ DIGIC 5 จะไม่มีจุดรบกวนปรากฏให้เห็นเมื่อใช้ความไวแสงสูงถึง ISO 6400 กระทั่งภาพที่ถ่ายด้วย ISO 25600 ยังสามารถนำมาพิมพ์ภาพขนาด 3R ได้ ขณะเดียวกัน กล้องที่วางขายในปี 2012 หรือหลังจากนั้นต่างมีคุณสมบัติ “การลดจุดรบกวนหลายภาพ” ซึ่งจะถ่ายภาพต่อเนื่องสี่ภาพเมื่อกดชัตเตอร์หนึ่งครั้ง และรวมภาพเข้าด้วยกันโดยอัตโนมัติเพื่อขจัดจุดรบกวนในภาพ

ภาพถ่ายที่ใช้การลดจุดรบกวนหลายภาพ

แม้ในเวลาที่ถ่ายภาพด้วยความไวแสง ISO สูงถึง 12800 จุดรบกวนก็ลดลงอย่างมากด้วยคุณสมบัติ การลดจุดรบกวนหลายภาพ

จุดรบกวนคืออะไร?

จุดรบกวน (Noise) หมายถึง จุดที่ปรากฏบนภาพเมื่อถ่ายด้วยความไวแสง ISO สูง ในการเพิ่มระดับความไวแสง ISO นั้นจำเป็นต้องขยายสัญญาณไฟฟ้า สัญญาณรบกวนจะเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการนี้ จุดรบกวนเป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นในกล้องดิจิตอล โดยระดับของจุดรบกวนที่ยอมรับได้นั้นจะแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล

จุดรบกวนที่ปรากฏตามระดับความไวแสง ISO

ISO 100

ISO 200

ISO 400

ISO 800

ISO 1600

ISO 3200

ISO 6400

ISO 12800

ISO 25600

Ryosuke Takahashi

เกิดที่จังหวัดไอชิเมื่อปี 1960 Takahashi เริ่มทำงานอิสระในปี 1987 หลังจากทำงานในสตูดิโอถ่ายภาพโฆษณาและสำนักพิมพ์ และเนื่องจากรับถ่ายภาพให้กับนิตยสารชื่อดัง เขาจึงได้เดินทางจากที่อยู่ประจำ คือ ญี่ปุ่นและจีน ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก และเขาก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งของ Japan Professional Photographers Society (JPS) ด้วย