ธรรมะกับการบำบัดโรคทางจิต โรคซึมเศร้า 

advertisements

ธรรมะกับการบำบัดโรคทางจิต ตอนที่หนึ่ง

มีโยมท่านหนึ่งสอบถามอาตมาเกี่ยวกับประเด็นการเสียชีวิตของดาราฮอลลีวูดท่านหนึ่งชื่อ โรบิน วิลเลียมส์ ที่สืบพบสาเหตุว่าส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาโรคซึมเศร้า จึงเป็นที่มาของคำถามเกี่ยวกับแนวคิดทางพระพุทธศาสนาที่บอกว่า ธรรมะสามารถใช้ในการรักษาหรือบำบัดอาการของโรคซึมเศร้า ได้นั้น แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร

ต้องขอพูดถึงเรื่องนี้ตามทรรศนะของอาตมาที่อิงตามหลักการทางพระพุทธศาสนาว่า ที่จริงแล้วพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับเรื่องของปัญหาทางจิตเป็นเป็นอย่างมาก แม้แต่ที่พูดกันว่าพระพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ ก็เป็นวิทยาศาสตร์ในเรื่องของกระบวนการทางความคิดหรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจิตเท่านั้น พระพุทธศาสนาพยายามหาคำตอบเกี่ยวกับสิ่งที่เนื่องด้วยความคิดหรือจิตใจที่อยู่ภายในตัวของมนุษย์ มากกว่าเรื่องอื่นๆ ต่างจากวิทยาศาสตร์ทางโลกที่มุ่งการแสวงหาความจริงในเรื่องของวัตถุ พระพุทธศาสนามองว่า

ทุกคนที่ยังไม่เข้าถึงความสมบูรณ์ทางจิตใจที่ปราศจากการถูกครอบงำด้วยความเศร้าหมองคือกิเลส อันได้แก่ ความรักใคร่ (เกินพอดี) ความอยากได้ (เกินพอดี) ความเครียดแค้นชิงชัง และความหลงผิด นั่นคือคนที่กำลังมีปัญหาทางจิตอยู่หรือไม่ก็พร้อมที่จะมีอาการทางจิตได้ทุกเวลา หากไม่รู้จักวิธีการควบคุมจิตใจของตนเองให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสมและพอดี พุทธศาสนาท่านมองแบบนั้นนะ ซึ่งต่างจากที่พวกเรามองกัน เพราะพวกเรามองกันแค่ว่า คนที่จะเป็นโรคจิตได้ คือต้องเป็นประเภทที่ว่า พูดจาไม่รู้เรื่องรู้ราว พร่ำเพ้อคนเดียว แสดงท่าท่างแปลกๆ เสื้อผ้าไม่นุ่ง หรือไม่ก็เป็นพวกที่มีอาการุรนแรงทางเพศ เช่นบ้ากาม หรือหื่นกาม เป็นต้น พระพุทธศาสนาท่านไม่ได้มองแค่นี้ ท่านมองมากไปกว่านั้น

ในปัจจุบันนี้คนมีปัญหาทางจิตกันมาก คือควบคุมความรู้สึกนึกคิดของตัวเองไม่ได้ เรียกว่าระงับอารมณ์ตัวเองไม่อยู่ เวลาที่ถูกอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจกระทบกระทั่ง ก็มักจะแสดงออกทางกิริยาทั้งคำพูดคำจาและการกระทำ ถ้าเป็นประเภทที่มาจากอาการซึมเศร้า เหงาหงอย คือ จิตใจข้างในหดหู่ ท้อแท้ สิ้นหวัง ก็ดีหน่อย คืออย่างน้อยก็ไม่เป็นอันตรายต่อเพื่อนร่วมสังคมคนอื่น ไม่ทำอันตรายให้ใคร แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นอันตรายต่อตัวเองอยู่ดี คนที่มีอาการซึมเศร้า ส่วนมาก มักเป็นคนที่ชอบคาดหวังกับอนาคตมากเกินไป คืออยู่กับอนาคตมากกว่าปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับสิ่งรอบข้างมากกว่าตัวเอง เมื่อเกิดการผิดหวัง หรือไม่ได้ดั่งใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งมา ก็มักจะควบคุมความรู้สึกตัวเองไม่ได้ เป็นกันมากโรคนี้ จากนั้นก็จะแสดงออกทางกิริยา ถ้าเป็นมากเข้าก็อาจถึงขั้นทำร้ายตัวเองหรือไม่ก็ฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหา อย่างที่เป็นข่าวให้เราได้เห็นกัน นี่มาจากปัญหาของอาการทางจิตอย่างหนึ่ง

มีอีกประเภทหนึ่งคือพวกที่อาการทางจิตแบบนิยมความรุนแรง คนพวกนี้มักจะชอบเก็บอารมณ์ที่มาจากความโกรธเกลียดหรือความเครียดแค้นชิงชังเป็นส่วนมาก คือต้องกระทบกระทั่งกับเรื่องที่ไม่พอใจอยู่บ่อยๆ แล้วก็ไม่รู้จักวิธีการในการระบายเรื่องเหล่านั้นออกจากความรู้สึกนึกคิด เมื่อเก็บสิ่งเหล่านี้มาเป็นอารมณ์มากเข้า ก็มักจะแสดงออกทางกิริยา ทั้งคำพูดคำจาและการกระทำ พอพูดถึงความรุนแรง คนจะคิดว่าต้องลงมือทำร้ายกันอย่างเดียวถึงเรียกว่าเป็นความรุนแรง ที่จริงไม่ใช้นะ แม้แต่เพียงการใช้คำพูดคำจาที่หยาบคาย เพื่อการด่าทอ หรือดูหมิ่นคนอื่น นั่นก็จัดว่าเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง คนที่มีอาการทางจิตประเภทนี้ สังเกตได้ไม่ยากนัก คือส่วนมากมักจะชอบใช้คำพูดคำจาที่รุนแรง นิยมการด่าทอหรือเสียดสี ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ไม่ค่อยฟังเสียงคนอื่น ตัดสินคนอื่นจากอารมณ์ของตนเองเสียเป็นส่วนมาก หนักไปกว่านั้นอาจจะถึงขั้นกับลงมือลงไม้ทำร้ายคนอื่นเลยก็ได้ เพื่อเป็นการยุติปัญหา หรือกำจัดความรำคาญของตัวเอง

นี่พูดมาทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของปัญหาทางจิตของคนในสังคมสมัยนี้ ที่เป็นกันมาก และไม่สามารถหาวิธีการในการระงับหรือบำบัดอาการพวกนี้ของตนเองได้ เป็นที่น่าแปลกใจอย่างหนึ่งว่า แม้ว่าวิทยาการสมัยใหม่จะทำให้สามารถผลิตยาดีที่สามารถรักษาโรคต่างๆ ได้ แต่ในทางกลับกันคนยังคงมีอาการป่วยทางจิตอยู่ และดูเหมือนว่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งโรคซึมเศร้า า โรคนิยมความรุนแรง เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตกอยู่ไม่น้อย

ธรรมะกับการบัดบัดโรคทางจิต ตอนที่สอง

พูดถึงมุมมองทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับการใช้ธรรมะเพื่อการรักษาอาการทางจิต โยมหลายท่านอาจจะเคยได้ยินเรื่องนี้ เกี่ยวกับธรรมะโอสถหรือธรรมะบำบัด เมื่อไม่นานมานี้ มีงานวิจัยของมหาจุฬาเรื่องหนึ่ง บอกว่า การสวดโพชฌังคปริตร สามารถช่วยบำบัดอาการซึมเศร้า ของผู้ป่วยทางจิตได้

advertisements

ก่อนอื่นต้องพูดถึงเรื่องนี้ก่อนว่า ในสมัยพุทธกาลนั้น พระพุทธองค์ท่านจัดได้ว่าเป็นนักจิตวิทยาที่ยอดเยี่ยมคนหนึ่งของโลกเลยก็ว่าได้นะ โยมหลายท่านอาจจะไม่ทราบ เพราะท่านให้การช่วยเหลือบุคคลที่มีอาการป่วยทางจิตเป็นจำนวนมาก โดยที่ไม่ได้หวังผลตอบแทนอะไรเลย คือ สมัยก่อนเวลาที่คนมีอาการทางจิต ไม่ว่าจะเกิดจากโรคซึมเศร้า หรือโรคอะไรก็ตามแต่ เจอเรื่องร้ายร้ายหรือเรื่องหนักหนักสาหัสกระทบกระทั่งจิตใจมา แล้วไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ด้วยสติปัญญาของตัวเอง เขาก็จะไปเข้าไปหาพระพุทธองค์ ไปเองบ้าง ชาวบ้านแนะนำให้ไปบ้าง เพื่อให้พระองค์ช่วยแก้ไขปัญหาให้ พวกที่เข้าไปหาส่วนมากมักเป็นพวกที่เกิดอาการท้อแท้ สิ้นหวังหดหู่ เพราะสูญเสียของรักของหวงไป มีเยอะเลย เวลาเข้าไปหาพระพุทธองค์ ก็จะร้องไห้ร้องห่มเข้าไป ถึงกับขั้นเสียสติก็มี เช่นเรื่องของพระนางปฏาจารา เป็นต้น

เวลาที่พระพุทธองค์ท่านให้การช่วยเหลือหรือบอกวิธีการแก้ไขปัญหาทางจิตกับบุคคลที่ประสบกับปัญหาเหล่านี้ ท่านก็ไม่ได้ใช้วิธีการที่พิศดารหรือมีอภินิหารอะไรนะ ท่านตรัสสอนธรรมดา พูดเรื่องธรรมดา ที่ฟังแล้วเข้าใจได้ไม่ยาก แต่เน้นให้มองเห็นอย่างเป็นสัจธรรมเพื่อเป็นการเรียกสติ ให้ฉุดคิดได้ด้วยตนเอง เช่น สอนเรื่องของสติ ก็สอนให้คนรู้จักอยู่กับปัจจุบัน พระพุทธองค์สอนเยอะมากเลยเรื่องนี้ เพราะการที่คนมีปัญหาทางจิต ส่วนมากก็เพราะไม่อยู่กับปัจจุบัน ไปมัวแต่หวนละห้อยความหลัง มัวเพ้อหวังอนาคตกันอยู่ มันก็เลยมีความสุขไม่ได้ ไปเก็บเรื่องนั้นเรื่องนี้มาคิด หรือแสวงหาต้องการจะได้โน่นได้นี่เต็มไปหมด มากเข้ามากเข้า จิตมันก็เสียความสมดุล เกิดอาการฟุ้งซ้านตามมา ทุกกรณีที่มีปัญหาแบบนี้ พระพุทธองค์ท่านจะตรัสสอนเรื่องของการใช้สติกำหนดรู้ให้ทันปัจจุบัน ให้รู้จักมองโลกตามความเป็นจริง ใครที่บอกว่าพระพุทธศาสนาสอนให้คนมองโลกในแง่ดีหรือแง่ร้ายนั้นไม่เป็นความจริงนะ ที่จริงต้องบอกว่า พระพุทธศาสนาสอนให้คนมองโลกตามความเป็นจริง เพราะพุทธศาสนาเป็นสัจจนิยม คือสอนให้ยอมรับในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับตนเองให้ได้ก่อน แล้วจึงจะรู้วิธีการแก้ไขปัญหา ถ้าไม่ยอมรับความจริงก็แก้ไขปัญหาไม่ได้ นี่คือสัจธรรม

พูดเรื่องการการสวดโพชฌังคปริตรก็เหมือนกัน คือต้องเข้าใจก่อนนะว่า ลำพังเพียงการพร่ำสวดโดยที่ไม่ได้เข้าใจถึงเนื้อหาสาระของบทสวดหรือการกำหนดจิตให้รู้สึกผ่อนคลายไปตามบทสวดเลยนั้น มันอาจจะไม่ช่วยบำบัดอาการทางจิตให้เบาบางลงไปได้ หรืออาจจะได้แค่ในระดับหนึ่ง อย่างน้อยเสียงสวดมนต์ก็ทำให้คนฟังรู้สึกมีความสงบมากขึ้น เมื่อมีความสงบมากขึ้นก็มีสติมากขึ้น การมีสติมากขึ้นจะทำให้คนเรามีเหตุมีผลมากขึ้นตามมาด้วย

ที่บอกว่าการสวดโพชฌังคปริตรสามารถช่วยบำบัดอาการโรคซึมเศร้า ทางจิตได้นั้น ในทรรศนะของอาตมามองว่า น่าจะเป็นเรื่องของการนำเนื้อหาสาระในบทสวดมาปรับใช้เพื่อการบำบัดมากกว่าการเน้นไปที่การต้องจดจ่ออยู่กับการฟังบทสวดอย่างเดียว เพราะอะไร เพราะเนื้อหาสาระในบทสวดนั้นท่านกล่าวไว้ดีมาก พูดถึงของหลักธรรมที่เป็นเครื่องสนับสนุนให้พระพุทธเจ้าสามารถตรัสรู้ได้ เช่น เรื่องการใช้สติ อย่างที่ได้พูดไปแล้ว (สติสัมโพชฌังค์) เรื่องของการรู้จักเลือกเฟ้นสิ่งที่เป็นสาระ (ธัมมวิจยสัมโพชฌังค์) คือการรู้จักคิดให้เป็นนั่นเอง นี่ก็สำคัญ เพราะคนเดี๋ยวนี้คิดไม่เป็น เก็บเรื่องนั้นเรื่องนี้มาคิด ไม่รู้จักแยกแยะถึงสิ่งที่เป็นสาระหรือไม่เป็นสาระเสียเลย มันจึงทำให้เกิดปัญหาทางจิตตามมา อย่างที่เห็น นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการใช้ความเพียร การรู้จักอดทนอดกลั้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยที่ไม่ท้อแท้หรือหมดหวังเสียก่อน(วิริยสัมโพชฌังค์) เป็นต้น ที่จริงมีอยู่ ๗ อย่าง แต่ยกมาเป็นตัวอย่างแค่นี้

ที่ยกหลักธรรมในโพชฌังคปริตรมาก เพราะอาตมาต้องการบอกให้เห็นว่า พระพุทธศาสนามุ่งเน้นในเรื่องของการนำหลักธรรมไปใช้หรือลงมือปฏิบัติเพื่อการแก้ไขปัญหาจริงๆ ปัญหาทุกอย่างจะแก้ไขได้หรือไม่อยู่ที่ตัวของผู้ที่มีปัญหา ไม่ใช่อยู่ที่คนอื่น คนอื่นเป็นได้อย่างมากก็แค่ผู้ให้คำปรึกษา แต่จะเป็นผู้แก้ปัญหาให้เราไม่ได้ และอยากจะบอกว่าการป้องกันปัญหาก่อนที่จะเกิดเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าการมานั่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว เหมือนอย่างที่เขาพูดว่า กันไว้ดีกว่าแก้เพราะถ้ามันแย่แล้วมันจะแก้ไม่ทัน ดังนั้น หากไม่อยากมีอาการป่วยทางจิต ก็จำเป็นต้องรู้จักวิธีการคิดให้เป็นนั่นเอง

R.I.P Robin McLaurim Williams

ธรรมะกับการบำบัดโรคทางจิต โรคซึมเศร้า 

ธรรมะกับการบำบัดโรคทางจิต โรคซึมเศร้า 

ที่มา: พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ
www.facebook.com/PhramahaPaiwan