เพลงไทยกล่อมเด็กและบทเด็กร้องเล่นของไทย

advertisements

สื่อ”เพลงกล่อมไทย” บทเพลงไทยกล่อมเด็กและบทเด็กร้องเล่นของไทย ในโครงการวาดเพลงกล่อมไทย Pleng Klom Thai จัดทำโดย ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ และคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม อำนวยการสร้างสรรค์โดย อาจารย์ชนิศา ชงัดเวช

เพลงไทยกล่อมเด็กและบทเด็กร้องเล่นของไทย Thai Folk Song for Kids สื่อสำหรับเด็ก

สร้างสรรค์ภาพและเพลง จำนวน 22 บทเพลง จากบทเพลงไทยกล่อมเด็กและบทเด็กร้องเล่นของไทย เพื่อสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ กล่อมเกลาจิตใจ และเป็นสื่อการสอนให้แก่เยาวชนและครอบครัว

https://soundcloud.com/lenglomthai/sets/iwqgp7udw4u4

เกี่ยวกับโครงการ วาดเพลงกล่อมไทย
ที่มา และความสำคัญของการสร้างสรรค์ผลงาน

“วาดเพลงกล่อมไทย” เป็นผลงานสร้างสรรค์ ในโครงการที่จัดทำโดย ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ ร่วมกับคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม โดยนำเนื้อหาที่สร้างสรรค์ผลงานมาจากบทเพลงไทยกล่อมเด็กดั้งเดิมของไทยที่เป็นมรดกทางภูมิปัญญาของชาติ อันแสดงถึงรากเหง้าชีวิตความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมพื้นบ้านที่สืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน เป็นเครื่องรำลึกชาติกำเนิดของชนชาติ เพลงกล่อมเด็กเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะแบบหนึ่งที่ยากจะระบุได้ว่าเริ่มร้องตั้งแต่สมัยใด หรือเริ่มร้องด้วยเนื้อหาใจความอย่างไรเพราะร้องต่อๆ กันมา

  • 1. โครงการฯ นี้ได้คัดสรรบทเพลงดั้งเดิมที่อ้างอิงได้และมีเนื้อร้องที่สืบต่อกันมายาวนาน บอกเล่าวิถีชีวิตท้องถิ่น ความเชื่อ ศีลธรรม ประเพณี และ ประวัติศาสตร์ สอดแทรกทั้งการอบรมสั่งสอน จัดเป็นเครื่องมือในการกล่อมเกลาบ่มเพาะจิตใจแก่เด็กและเยาวชน ด้วยภาษาที่ไพเราะคล้องจอง สนุกสนาน มีจินตนาการอันน่าอัศจรรย์และการเปรียบเปรยอย่างน่าสนใจ
  • 2. นอกจากนี้ยังสามารถเรียนรู้เรื่องราวชีวิตของคนสัตว์ และธรรมชาติ จากเนื้อหาบทเพลงที่คัดสรรมาอีกด้วย

ปัจจุบันเพลงกล่อมเด็กดั้งเดิมของไทยจำนวนมากได้เลิกร้องและถูกลืมเลือนไปแล้ว หลายครอบครัวเปิดเพลงตามสมัยนิยมให้เด็กฟัง หรือใช้หนังสือนิทานภาพและเพลงกล่อมเด็กต่างชาติมาอ่านและกล่อมลูกหลานแทน ซึ่งอาจเป็นด้วยภาพประกอบที่มีรูปแบบทันสมัยและเพลงในทำนองสากล จึงทำให้เข้าถึงเด็กและครอบครัวปัจจุบันได้ง่ายกว่าเพลงกล่อมเด็กของไทยแบบดั้งเดิม

การนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ “วาดเพลงกล่อมไทย” นี้ จึงเป็นการสร้างสรรค์เพลงกล่อมเด็กในรูปแบบร่วมสมัยจากเนื้อหาดั้งเดิม โดยรวบรวมเพลงกล่อมเด็กจำนวน 22 บทเพลง จัดทำเป็นแอพพลิเคชั่น (application) ซึ่งเป็นสื่อเทคโนโลยีร่วมสมัยเข้าถึงเยาวชนและคนทั่วไปได้อย่างสะดวกง่ายดาย โดยสามารถเปิดชมแอนิเมชั่นและเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเพลงกล่อมเด็กจากคอมพิวเตอร์แทบเลท (computer tablet) ด้วยภาพเคลื่อนไหวที่มีรูปแบบสวยงามร่วมสมัย แสดงถึงวัฒนธรรมไทยประกอบบทเพลงในท่วงทำนองสากลผสมผสานดนตรีไทย เพื่อเสริมสร้างเอกลักษณ์ สื่อสารเนื้อหาให้สนุกสนาน เข้าใจง่าย เกิดความประทับใจ กล่อมเกลาจิตใจให้อ่อนโยน ส่งเสริมทั้งการเรียนรู้ คุณธรรม กระตุ้นให้เกิดความภาคภูมิใจเห็นคุณค่าของความเป็นไทยมากขึ้นเพื่อดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและความเป็นเอกราชของชาติอย่างยั่งยืน

วัตถุประสงค์ของการสร้างสรรค์ผลงาน

  • 1. เพื่อสร้างสรรค์สื่อเชิงโต้ตอบจากภาพประกอบเพลงกล่อมเด็กที่ข้ามยุคสมัย ให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่เข้าใจได้ง่ายประกอบการเรียนรู้ มีความน่ารักสนุกสนาน เป็นสากล
  • 2. เพื่ออนุรักษ์เพลงไทยกล่อมเด็กที่เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ โดยเผยแพร่ผลงานในรูปแบบของสื่อร่วมสมัย ที่สามารถเข้าถึงเยาวชนได้ง่ายไม่จำกัด เพื่อกระตุ้นและกล่อมเกลาจิตใจให้มีความเข้าใจและภาคภูมิใจในความเป็นไทยมากขึ้น
  • 3. เพื่อใช้เป็นสื่อในการส่งเสริมความรักความผูกพันและความอบอุ่นในครอบครัว ซึ่งอาจเป็นทางหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาทางอารมณ์และสังคมให้แก่เยาวชนได้

แนวคิด

“เพลงกล่อมไทย รากแห่งวัฒนธรรมไทย กล่อมใจสู่สากล”
ออกแบบภาพประกอบและภาพเคลื่อนไหวจากบทกล่อมเด็กดั้งเดิมของไทย ด้วยภาพที่สื่อสารเรื่องราวให้เยาวชนรุ่นใหม่เข้าใจง่าย ในรูปแบบร่วมสมัยที่มีความสวยงามน่ารัก และคงบรรยากาศพื้นบ้านตามวัฒนธรรมไทยแสดงให้ เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนและสัตว์ตามธรรมชาติการเคลื่อนไหวของภาพจะลำดับเนื้อหาตามประเด็นของเรื่อง โดยนำเสนอให้มีความสนุกสนานน่าสนใจ ภาพเคลื่อนไหวต่อเนื่องนุ่มนวล ไม่รุนแรงเร่งเร้า หรือวุ่นวาย เสริมสร้างสมาธิและการเรียนรู้ตามหลักพัฒนาการทางสมองและจิตใจแก่เด็ก สอดคล้องกับเพลงที่สร้างสรรค์ใหม่ โดยผสมผสานทำนองดนตรีสากลกับเครื่องดนตรีไทย ให้ฟังง่าย ไพเราะ อ่อนโยนมีเอกลักษณ์ของความเป็นไทยที่ร่วมสมัยสู่ความเป็นสากล

advertisements

กระบวนการของการสร้างสรรค์ผลงาน

  • 1. ศึกษาและรวบรวมข้อมูลความรู้ในเรื่องคติชาวบ้าน และบทเพลงกล่อมเด็กจากหนังสือ วีดีทัศน์ ซีดีเสียง และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรม คัดเลือกเพลงกล่อมเด็กและเพลงเด็กร้องเล่น จำนวน 22 บทเพลง วิเคราะห์ความหมาย หาข้อมูลอ้างอิงและคัดเลือกบทเพลงที่เหมาะสม จัดการสัมนาอบรมให้ความรู้และมอบหมายบทเพลงที่เหมาะสม แก่ทีมนักวาดในโครงการฯ เพื่อออกแบบร่างลายเส้นสร้างภาพประกอบบทเพลง
  • 2. ตรวจแก้ไขปรับปรุงการออกแบบภาพร่างและการลงสีภาพประกอบทุกภาพ ให้สื่อสารเนื้อหาบทเพลงแต่ละเพลงได้อย่างถูกต้อง สวยงาม มีเอกลักษณ์ สอดคล้องกับแนวคิดหลักของโครงการฯ
  • 3. ถ่ายภาพวาดต้นฉบับ ตกแต่งกราฟิก แยกเลเยอร์ไฟล์ภาพประกอบทั้งหมด เตรียมทำแอนนิเมชั่น
  • 4. กำหนดแนวคิดในการสร้างสรรค์ทำนองเพลง จัดทำ demo ตรวจและแก้ไขพัฒนาเพลง
  • 5. เขียนบทบรรยายและบทพากษ์ สำหรับแอพพลิเคชั่น ให้เกร็ดความรู้ จำนวน 22 เรื่อง
  • 6. ควบคุมการบันทึกเสียงร้องเพลง เสียงพากษ์และเสียงบรรยายกำกับการตัดต่อเสียง และเรียบเรียงเพลงให้สมบูรณ์
  • 7. นำภาพประกอบที่ตกแต่งกราฟฟิคแล้ว มาสร้างภาพเคลื่อนไหว ตัดต่อผสมเสียงเพลงในโปรแกรมคอมพิวเตอร์กำหนดแนวคิดการสื่อสารและกำกับการทำแอนนิเมชั่น
  • 8. กำหนดแนวคิดและรูปแบบของแอพพลิเคชั่น (interface design) ตรวจแก้ไขและพัฒนาการออกแบบแอพพลิเคชั่นให้สมบูรณ์
  • 9. จัดทำแอพพลิเคชั่น (application) สำหรับ computer tablet ในระบบ ios และ android จำนวน 2 แอพพลิเคชั่น รวม 22 เรื่อง ดังนี้
    • – แอพพลิเคชั่น “เพลงกล่อมไทย” (เพลงกล่อมเด็ก) จำนวน 12 เพลง
    • – แอพพลิเคชั่น “เพลงเด็กไทย”

    (เพลงกล่อมและเพลงเด็กร้องเล่น) จำนวน 10 เพลง โดยแต่ละเรื่องจะนำเสนอแอนิเมชั่นประกอบเพลง ที่สามารถเลือกแสดงเนื้อเพลงเพื่อหัดร้องตามได้ และนำเสนอเกร็ด ความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาบทเพลง ด้วยเสียงบรรยายและเสียงพากษ์ จากการสัมผัสหน้าจอบนภาพวาดแต่ละเพลง

เทคนิคในการสร้างสรรค์ผลงาน

  • สร้างภาพประกอบจำนวน 22 ภาพ ด้วยเทคนิค เช่น สีอะครีลิค สีน้ำ สีไม้ และโปรแกรมคอมพิวเตอร์
  • สร้างสรรค์และเรียบเรียงเพลง ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ผสมผสานเครื่องดนตรีไทย
  • สร้างภาพเคลื่อนไหว ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์
  • สร้างแอพพลิเคชั่น ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์

ขนาดของผลงานสร้างสรรค์

  •  แอนนิเมชั่นประกอบเพลงเป็นดิจิตอลไฟล์ขนาด 2048 px X 1536 px จำนวน 22 เพลง ความยาว 60 นาที
  • แอพพลิเคชั่น “เพลงกล่อมไทย” และ “เพลงเด็กไทย” บนหน้าจอคอมพิวเตอร์องค์ความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติงานสร้างสรรค์ หรือผลลัพธ์ที่ได้จากการสร้างสรรค์จากการปฏิบัติงานสร้างสรรค์ชุดนี้ ข้าพเจ้าได้แนวทางในการออกแบบภาพประกอบ ที่สามารถนำเสนอเรื่องราวของความเป็นไทยอย่างมีเอกลักษณ์ในรูปแบบที่เป็นสากล คือนักวาดสามารถออกแบบภาพด้วยลายเส้น สีและเทคนิคเฉพาะตน ในรูปแบบที่ร่วมสมัยและสื่อถึงความเป็นไทยได้ โดยประเด็นสำคัญอยู่ที่ความถูกต้องของข้อมูลอ้างอิงที่นำมาออกแบบ ทั้งคาแรคเตอร์และฉาก เช่น ลักษณะรูปร่างหน้าตาของคนไทยในวัยต่าง ๆ ที่ถูกต้องตามเนื้อหา เครื่องแต่งกายที่ไม่ผิดเพี้ยนหรือผสมปนเปกับวัฒนธรรมต่างชาติ ลวดลายของเสื้อผ้า โครงสร้างสัดส่วนของสัตว์ตามชนิดและพันธุ์ รวมทั้งการออกแบบฉากจากสถานที่และภูมิประเทศของไทย นอกจากนี้โครงสร้างของสีในแต่ละภาพที่มีความสอดคล้องกับเนื้อหาและบรรยากาศของเรื่อง ก็จะช่วยเสริมภาพลักษณ์ตามวิถึไทยให้เกิดความชัดเจนขึ้นเช่นกัน

เอกสารอ้างอิง

  • บทกลอนกล่อมเด็ก หอพระสมุดวชิรญาณ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าเหญิง (โต) กับหม่อมเจ้าชาย (พอ) ในพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสิงหวิกรมเกรียงไกร เมื่อปีระกา พ.ศ.2464. โรงพิมพ์ไทย กรุงเทพฯ
  • รองศาสตราจารย์กุหลาบ มัลลิกะมาส คติชาวบ้าน. พิมพ์ครั้งที่ 2. สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย
  • ศาสตราจารย์ พต.หญิง คุณหญิงผะอบ โปษะกฤษณะ กับผู้จัดทำ เพลงกล่อมเด็กและเพลงประกอบการละเล่นของเด็ก ภาคกลาง 16 จังหวัด. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ: คุรุสภา
  • ประเทือง คล้ายสุบรรณ์ ยุพิน ธชาศรี เพลงกล่อมเด็ก เอกสารประกอบการเรียนวิชาภาษาไทย หมวดวิชาภาษาไทย, วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา สุทธิสารการพิมพ์ 2517
  • ศาสตราจารย์ พต.หญิง คุณหญิงผะอบ โปษะกฤษณะ กับผู้จัดทำ เพลงกล่อมเด็กและเพลงประกอบการละเล่นของเด็ก ภาคกลาง 16 จังหวัด. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ: คุรุสภา
  • พรพิไล เลิศวิชา ไม้อ่อนย่อมดัดได้ ดั่งใจ. ฉบับพิมพ์สี: บริษัทธารปัญญาจำกัด
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สน สีมาตรัง และคณะ ช่างทอ ร้อยใจ เทิดไท้ ๗๒ พรรษา. วุฒิสภาจัดพิมพ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ
  • แถบเสียงรวมเพลงกล่อมพระบรรทมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อครั้งทรงพระเยาว์
  • ท่านผู้หญิงสง่า อิงคุลานนท์ ขับร้อง สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ รับผิดชอบการทำต้นฉบับแถบเสียง กองศิลปศึกษา กรมศิลปากร บรรจุเพลงและคนตรีประกอบ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ญาดา อรุณเวช ภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียบเรียงและจัดทำบท บริษัท อมรโปรดัคส์ จำกัดอนุเคราะห์การจัดพิมพ์ ดำเนินการครั้งแรก 500 ชุด เดือน มิถุนายน 2537
  • จิตรกรรมลายรดน้ำบนบานหน้าต่างของพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)

ที่มา http://decdna.su.ac.th/

www.facebook.com/wadplengklomthai